ส.อ.ท. จับมือ บพข. ดันธุรกิจนวัตกรรม ยกระดับการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

ส.อ.ท. จับมือ บพข. ดันธุรกิจนวัตกรรม ยกระดับการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 944 Reads   

ส.อ.ท. ร่วม บพข. ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสู่เชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเข้ากับวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม กับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย นายธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 ส.อ.ท.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย บพข. และ ส.อ.ท. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในประเทศสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนากระบวนการผลิต และการทดสอบมาตรฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ และสนับสนุนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันศึกษา ภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในระดับประเทศและนานาชาติ และเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเข้ากับวิสาหกิจขนาดต่างๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันคัดเลือกและให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพ โดย บพข. จะเป็นผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจขนาดต่างๆ ที่ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) น้อยกว่า 7 และ ส.อ.ท. จะเป็นผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจขนาดต่างๆ ที่ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) ตั้งแต่ 7 ขึ้นไป โดยสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบต่างๆ เพื่อจัดทำโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพหรือวิสาหกิจขนาดต่างๆ ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมบุกตลาดโลก สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย รวมถึงสนับสนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมขนาดต่างๆ ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ความร่วมมือนี้ ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเองให้สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก เพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้สูงขึ้น และสามารถยกระดับจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ได้” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม

ด้าน รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน บพข. มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันขยายผลงานวิจัยที่สำเร็จจาก บพข. ในระดับ TRL 4-8 ไปสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกประเทศ โดย บพข. มุ่งสนับสนุนทุนวิจัยในการสร้างนวัตกรรมในโครงการที่มีความร่วมมือจากผู้ประกอบการหรือผู้ใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมมุ่งเป้าของประเทศ และกองทุนอินโนเวชั่นวัน เป็นกองทุนที่หนุนการจับคู่ระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับ SMEs ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจะเป็นกลไกสำคัญของการนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และเร่งผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยให้มีการเติบโตควบคู่กันไป ช่วยส่งเสริมการพัฒนาให้ประเทศมีธุรกิจฐานนวัตกรรมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศได้ โดยผ่านกลไกการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง บพข. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในครั้งนี้

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH