Delta reveals EV Charging business pilot 100 stations at ptt

เดลต้าบุกชาร์จจิ้ง EV ปั๊มปตท. นำร่อง 100 จุด ชูหัวเสียบเข้ารถได้ทุกรุ่น

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ย. 2563
  • Share :

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของเดลต้าในประเทศไทย ขณะนี้เริ่มติดตั้งไปประมาณ 100 จุด ในสถานีน้ำมันของ ปตท. โดยตัวสถานีชาร์จบริษัทเดลต้าเป็นผู้ผลิต แต่ยังมีบางชิ้นส่วนต้องนำเข้าจากไต้หวันเข้ามาประกอบ เช่น IC ที่เป็นของเดลต้าแต่ต้องนำเข้ามาเพราะไทยยังไม่มีความสมบูรณ์ในเรื่องของชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนออกมาอย่างชัดเจน เดลต้าจึงมีแผนขยายไปยังบ้านที่อยู่อาศัยด้วย

“ตอนนี้โมเดลของเดลต้าจะตั้งสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมันไปก่อน เริ่มที่ปั๊ม ปตท. แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่นี่ เรามองที่จะทำปั๊มอื่นด้วย ส่วนราคาต่อตัวมันแล้วแต่ว่าการใช้งานที่ไหน อย่างตัวชาร์จเจอร์ ถ้าซื้อไปไว้เองที่บ้าน ตัวละไม่กี่หมื่นบาท แต่กว่าจะเต็มก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงโดยการใช้ไฟบ้าน (normal charge) แต่ถ้าที่ปั๊มน้ำมันการลงทุนก็จะแพงขึ้น เพราะมันต้องไล่ระบบไฟจึงต้องเป็นแบบควิกชาร์จ (fast charge) ชาร์จเสร็จภายใน 10-15 นาที เช่นเดียวกับที่ยุโรปทำอยู่ตอนนี้ ส่วนแผนขยายการติดตั้งในพื้นที่อื่น ๆ ก็จะเป็นตามตัวอาคารและหน่วยงานราชการ อย่างตอนนี้ที่ติดตั้งไปแล้วที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตึกเซ็นทรัล”

นอกจากเดลต้าจะนำเข้าชิ้นส่วนสถานีชาร์จจากไต้หวันแล้วก็ยังมีบางชิ้นส่วนที่สามารถซื้อจากผู้ผลิตรายเล็ก (startup) ในไทยได้ ผ่านทางโครงการอบรมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่เดลต้าให้เงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Delta Angel Fund) ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจนถึงขั้นสามารถผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เดลต้าก็จะให้เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ โดยสั่งซื้อชิ้นส่วนสำคัญจาก startup เหล่านี้ และยังเป็นฝ่ายที่ซัพพอร์ตบางชิ้นส่วนให้กับ startup เพื่อลดต้นทุน สำหรับแผนการทำตลาด EV ในต่างประเทศ ได้เริ่มติดตั้งสถานีชาร์จไปแล้ว 300 จุดในยุโรป ใช้โมเดลเดียวกันกับที่ประเทศไทย คือ ติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน

โดยใช้โรงงานเดลต้าผลิตในสโลวะเกียและยุโรป ทั้ง 2 โรงงานจะร่วมกันผลิตเพื่อขยายสถานีชาร์จในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการรถ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สถานีชาร์จแบบควิกชาร์จของเดลต้าได้พัฒนาหัวชาร์จสามารถเสียบเข้าได้กับรถทุกประเทศทั้งรถยุโรป รถเอเชีย รถญี่ปุ่น รวมถึงรถจีน จากเดิมหัวชาร์จจะเสียบเข้าได้กับรถยนต์แค่เฉพาะที่ผลิตในบางประเทศเท่านั้น อย่างหัวชาร์จของญี่ปุ่นจะใช้ได้กับรถญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เสียบกับรถยุโรปได้

“ตรงนี้ถือว่าเดลต้าเป็นผู้ใช้อินโนเวชั่นเข้ามาพัฒนาสินค้าให้ไปได้เร็ว แน่นอนว่าพอเราวางหัวชาร์จสามารถเสียบเข้าได้กับทุกประเทศออกมา ตลาดก็จะก๊อปปี้ของเรา ตอนนี้เราวางที่ตลาดยุโรปนำร่องไปก่อน และจะนำมาวางที่ตลาดในไทยต่อไป เนื่องจากความต้องการใช้รถ EV ในยุโรปมีมากกว่าไทย” นายอนุสรณ์กล่าว

ส่วนการดำเนินธุรกิจของเดลต้าในช่วงครึ่งปีหลัง นายอนุสรณ์กล่าวว่า “ไม่ห่วงอะไรเลย” เนื่องจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้ดี และเดลต้าเองค่อนข้างมีกำไร ธุรกิจเป็นไปในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยประคองธุรกิจและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เดลต้าฯ ยังจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนแบบเงินให้เปล่า (Delta Angel Fund) ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ (startup) ที่มีไอเดียหรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ เช่น 1) ระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ 3) นวัตกรรมเพื่ออนาคต ครอบคลุม 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล สำหรับปีนี้ตั้งงบฯไว้ 4 ล้านบาท ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5