ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ให้ใช้ local content วัตถุดิบในประเทศ บวกแต้มต่อให้เหล็กไทยแพงกว่าเหล็กนอกได้ 3%

นับหนึ่งแผนไทยแลนด์เฟิรสต์ ไทยสู้จีนหนุนใช้เหล็กในประเทศ

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 913 Reads   

ผู้ผลิตเหล็กไทยได้เฮ หลัง ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ให้ใช้ local content วัตถุดิบในประเทศ ด้าน ส.อ.ท.ชี้รัฐให้แต้มต่อเหล็กไทยแพงกว่าเหล็กนำเข้าได้ 3% เตรียมเดินหน้าขอขยายเกณฑ์นี้ในโครงการ PPP หวังเพิ่มดีมานด์เหล็กในประเทศโต 10-20% แข่งกับเหล็กนำเข้าจากจีน

นับเป็นเวลา 1 ปี หลังจากที่ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 470 บริษัทขอเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบาย “Thai First” หรือ “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” โดยตั้งเป้าจะใช้กับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ

ล่าสุดนโยบายนี้เริ่มมีความคืบหน้าขึ้นบ้างแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ “หลักการ” เรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …ในหมวดส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง

ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ดังกล่าวได้ให้ “แต้มต่อ” เหล็กไทยมีราคา “สูงกว่า” เหล็กนอกได้ไม่เกิน 3% ซึ่งทางเอกชนยอมรับว่า เป็นแต้มต่อที่ไม่มากนัก “แต่ก็ยังดีกว่าไม่ให้เลย” ส่วนเหล็กนอกนำเข้า ถ้าขายถูกกว่ามากก็เป็นเพราะมีการทุ่มตลาดหรือมีการอุดหนุน โดยประเด็นนี้เป็นปัญหาค้างคามากว่า 20 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยยังไม่เคยฟ้องตอบโต้การอุดหนุนได้เลย เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ออกกฎกระทรวง

อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ข้างต้นครอบคลุมเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง-การก่อสร้างโดยหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทั่วไป แต่ไม่ครอบคลุม โครงการก่อสร้างแบบ PPP (public private partnership), โครงการก่อสร้าง infrastructure เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ซึ่งเป็น PPP ดังนั้นก็จะช่วยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศได้รับประโยชน์บ้าง “ในระดับหนึ่ง” เพราะเดิมผู้ผลิตเหล็กไทยมีการใช้ capacity ประมาณ 30% กว่าเอง (ปี 2562 ใช้ในประเทศ 16-17 ล้านตัน จากกำลังการผลิตทั้งประเทศกว่า 30 ล้านตัน) ถ้ามีโครงการ Thai First มาช่วยก็น่าจะขยับกำลังผลิตขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง

ขณะที่นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล (มหาชน) กล่าวว่า มติ ครม.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้กับ ส.อ.ท. โดยกำหนดให้

1) ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้สำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น

แต้มต่อไทยราคาสูงกว่า 3%

2)กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผู้เสนอราคาแข่งขันกันระหว่างไทยกับผู้เสนอราคาต่างชาติ หากนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือบุคคลถือสัญชาติไทยเสนอราคา “สูงกว่า” ไม่เกิน 3% ให้ซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาฝ่ายไทยรายนั้น

ทั้งนี้ข้อเสนอ local content ดังกล่าวนับเป็นความพยายามของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ได้เสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 กระบวนการต่อจากนี้ก็คือ กระทรวงการคลังจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการจัดซื้อจัดจ้างเสียก่อนจึงจะสามารถกำหนดเงื่อนไข local content ไว้ในสัญญาโครงการก่อสร้างได้ ส่วนจะกำหนดถึงขั้นว่าต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทย 100% หรือไม่นั้น “ผมว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น”

โดยคำนิยามที่จะอยู่ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง น่าจะตีความว่า เป็นสัญชาติใดก็ได้ที่ลงทุนในไทยก็ถือว่าผลิตในประเทศไทย ถือว่านโยบาย Thai First สอดรับกับนโยบาย Made in Thailand ของ ส.อ.ท.ที่กำลังจะออกตามมา ทางกรมบัญชีกลางมีมติว่า เมื่อมีประกาศออกมาแล้วในส่วนของหลักเกณฑ์ว่าสินค้าใดเป็น Made in Thailand หรือไม่ก็จะมอบอำนาจให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกใบรับรองให้ผู้รับเหมา

“ที่คุยคร่าว ๆ ก็คือ จะกำหนดให้มี local content ภายในประเทศ 40% เช่น เหล็กเส้นก็ควรมีการใช้ local content รวมวัตถุดิบ ค่าแรง ต้องไม่น้อยกว่า 40% ถ้าพิสูจน์ได้”

Local Content โครงการ PPP
นายประวิทย์กล่าวถึงงานของบริษัท มิลล์คอน สตีล ในปัจจุบันว่ามีสัดส่วนงานของภาครัฐอยู่ประมาณ 70-80% ซึ่งการได้ local content ส่วนนี้จะสามารถผลักดันให้ยอดขายโต 10-20% อาทิ โครงการก่อสร้างถนน ทางด่วน และมอเตอร์เวย์จากกรมทางหลวง ที่เป็นงานก่อสร้างหลัก นอกจากงานโครงการภาครัฐแล้ว บริษัทยังหวังที่จะได้งานจากโครงการก่อสร้างแบบ PPP ด้วย โดยเฉพาะงานสาธารณูปโภค

ยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เหล็กของมิลล์คอน เช่น โครงการ One Bangkok รัฐสภาเกียกกายและอาคารสำนักงานภาครัฐ, โครงการมอเตอร์เวย์, โครงการรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ เป็นต้น

นอกจากนี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กได้ยื่นข้อเสนอกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อขอให้ติดตามผลการพิจารณาเรื่อง local content ในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยได้ประมาณการใช้เหล็ก

ในโครงการ PPP ซึ่งหากผ่านการอนุมัติเช่นเดียวกับโครงการของรัฐ ก็จะมีถึง 10 โครงการ ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างรวมกันประมาณ 3-4 ล้านตัน ประกอบไปด้วย 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท ปริมาณการใช้เหล็ก 900,000 ตัน 2) รถไฟไทย-จีน มูลค่า 179,412 ล้านบาท ใช้เหล็ก 800,000 ตัน 3) ท่าเรือแหลมฉบังมูลค่า 155,834 ล้านบาท ใช้เหล็ก 750,000 ตัน 4) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 122,067 ล้านบาท ใช้เหล็ก 430,000 ตัน

5) มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ มูลค่า 60,715 ล้านบาท ใช้เหล็ก 340,000 ตัน 6) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 50,340 ล้านบาท ใช้เหล็ก 190,000 ตัน 7) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 46,990 ล้านบาท ใช้เหล็ก 180,000 ตัน 8) โครงการมอเตอร์เวย์บางขุนนนท์-บ้านแพ้ว มูลค่า 32,643 ล้านบาท ใช้เหล็ก 170,000 ตัน 9) สนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 10,588 ล้านบาท ใช้เหล็ก 60,000 ตัน และ 10) ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่า 10,154 ล้านบาท ใช้เหล็ก 60,000 ตัน

“บางโครงการเริ่มก่อสร้างกันไปแล้ว ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศก็ส่งเหล็กเข้าโครงการผ่านทางตัวแทนจำหน่าย แต่มันเป็นส่วนน้อย ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นโครงการที่บริษัทจีนประมูลได้ไป เขาแทบจะไม่ใช้เหล็กไทยเลย แต่ทุกอย่างนำเข้าจากจีนหรือประเทศเพื่อนบ้านที่จีนเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ ชิ้นส่วนผลิตในจีนเป็นชิ้น ๆ แล้วนำเข้ามาประกอบในไทย หรือไม่ก็กำหนดสเป็กที่ไม่มีการผลิตเหล็กแบบนี้ในประเทศ ทั้ง ๆ ที่เกินความจำเป็น แต่ถ้ามีการกำหนดสัดส่วนให้ใช้เหล็กภายในประเทศในโครงการ PPP ก็จะช่วยในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศโตเพิ่มขึ้น”