EVAT proposed Govt giving privileges to urge EV car demand

เพิ่มสิทธิประโยชน์คนใช้รถอีวี ส.ยานยนต์ไฟฟ้าจี้รัฐเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ

อัปเดตล่าสุด 2 ต.ค. 2563
  • Share :

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าฯ เดินหน้าหนุนรถอีวีเต็มสูบ ผนึกรัฐ-เอกชนเดินตามโรดแมปอีวี หวังภายในปี 2030 มีรถยนต์ xEv 30% ของรถยนต์ในประเทศทั้งหมด เอื้อประโยชน์ผู้ใช้รถ จับมือกรมการขนส่งทางบกชงแนวทางรถไฟฟ้ารับสิทธิพิเศษเพียบ

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT เปิดเผยถึงนโยบายของสมาคมในการเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าแพร่หลายในประเทศไทย และเพื่อไปสู่เป้าหมายภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ตามโรดแมปเพื่อให้ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คิดเป็น 30% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้ในประเทศไม่ถึง 1% หรือ 2,168 คันในปี 2562


นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับปีนี้สมาคมจะขับเคลื่อน 8 ด้านหลัก 1.จัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ 2.พิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เช่น ให้รถสามล้อไฟฟ้าและรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี 3.ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสมผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดภาษีส่วนบุคคลนิติบุคคลสำหรับการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า 4. ส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 5.ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 6.จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 7.เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และ 8.การส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า

“ปีนี้ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะดีขึ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.มียอดขายทั้งสิ้น 2,014 คัน มากกว่าปีที่แล้วแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะเผชิญกับสถานการณ์ของโควิด ยิ่งยอดสะสมตั้งแต่ปี 2558-เดือน ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 177,617 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด จำนวน 172,818 คัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น รถยนต์ 166,581 คัน รถจักรยานยนต์ 6,235 คัน รถโดยสาร 1 คัน รถบรรทุก 1 คัน ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนทั้งสิ้น 4,799 คัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 2,593 คัน รถยนต์ 1,899 คัน รถโดยสาร 120 คัน และรถสามล้อ 187 คัน”

นายกสมาคมฯยังเปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านสมาคมได้หารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้มีการจดทะเบียนรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถไฟฟ้าแยกประเภทให้ชัดเจน และคาดว่าน่าจะได้เห็นความชัดเจนราวต้นปีหน้าอย่างแน่นอน เพื่อเป็นการนำร่องในการแยกประเภทของรถแล้ว ยังเป็นการช่วยในเรื่องของการต่อยอดเพื่อกำหนดขอบเขต หรือการสร้างเงื่อนไขการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เช่น กำหนดการใช้งานการเข้าออกในพื้นต่าง ๆ การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเร่งให้เกิดการอยากใช้งาน เช่น ที่จอดพิเศษ หรือแม้แต่การจัดเก็บค่าทางด่วน ฯลฯ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี รวมทั้งการจดทะเบียนให้กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าด้วย เพื่อต่อยอดให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ สมาคมยังเดินหน้าผลักดันระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของสถานีชาร์จจากผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถ สามารถใช้ได้ระบบเดียวกัน ทั้งการค้นหาสถานี การชำระค่าบริการ ฯลฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน เนื่องจากการทำให้รถยนต์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายนั้นผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญใน 2 ปัจจัยหลัก คือ ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง และระบบอินฟราสตรักเจอร์ในการรองรับ ซึ่งมีการสนับสนุนและผลักดันทั้ง 2 ส่วนอย่างมีเสถียรภาพ มั่นใจว่าโอกาสและเป้าหมายของการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีรถยนต์ xEV คิดเป็น 30% ของยอดผลิตในปี 2030 นั้นเป็นไปได้อย่างแน่อน

“สมาคมเรายังเดินหน้าผลักดันในอีกหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการบรรจุรถยนต์อีวีให้ไปอยู่ในมาตรฐานครุภัณฑ์ในการจัดซื้อของหน่วยงานราชการ ด้วยการเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในการเทียบเงื่อนไข สเป็กต่าง ๆ โดยเฉพาะรายละเอียดของแรงม้า หรือการผลักดันรถจักรยานยนต์อีวีซึ่งเราก็ได้หารือกับทางบีโอไอ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนคล้าย ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้า”

 

อ่านต่อ: