Perspective ระบบราง ประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 2,595 Reads   

เมื่อพูดถึง “เมกะโปรเจกต์รถไฟไทยทั่วประเทศ” อันประกอบด้วย โครงข่ายรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าสายสีแดง, สถานีกลางบางซื่อ, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, รถไฟฟ้าความเร็วสูง สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้

แน่นอนว่า เราต้องนึกถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงคมนาคม ดูแลกิจการด้านรถไฟของประเทศไทย โดย ผศ.พิเศษ ดร.ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการรถไฟ-รถไฟฟ้าทั่วประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้ รฟท.
 
l โครงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ (Double-Track Railway Network Projects)

ในปี 2561 รฟท. มีทางรถไฟอยู่ทั้งหมด 4,034 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟขนาด 1.00 เมตร (Meter Gauge)พาดผ่านพื้นที่ 47 จังหวัด  เส้นทางส่วนใหญ่เป็นรถไฟทางเดี่ยวมากถึง 91% ทางคู่ 6% และทางสาม 3% ทำให้การเดินทางและขนส่งทางรางที่ผ่านมามีความไม่สะดวก และใช้เวลาเดินทางนาน  เมื่อเกิดโครงการรถไฟ-รถไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบราง จึงมีการเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง (การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่) ส่งผลให้โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 เป็นระยะเร่งด่วน ที่จะทำให้มีทางรถไฟเพิ่มอีก 993 กิโลเมตร โดยมีการก่อสร้างเสร็จในปี 2562 บางส่วนแล้ว คือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กิโลเมตร และชุมทางจิระ-ขอนแก่น 187 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 รวมระยะทาง 1,483 กิโลเมตร และ 2 เส้นทางใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รวมระยะทาง 681 กิโลเมตรที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2566-2568 และอีก 12 เส้นทางเปิดใหม่ในอนาคต 

 
“โครงการรถไฟทางคู่” 
จะทำให้มีปริมาณความต้องการขบวนรถไฟรวม 3,708 ตู้ 
ภายใน 15 ปี (ปี 2562-2576)
 


l โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Red Line Commuter Train Project) และโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station)

นอกจากนี้ รฟท. ยังรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) เพื่อเชื่อมต่อกับจังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  โดยสถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งอาเซียนนั้นใกล้จะแล้วเสร็จ มีกำหนดเปิดให้บริการช่วงมกราคม 2564 พร้อมเปิดเดินรถช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร 10 สถานี (สายสีแดงเข้ม) และบางซื่อ-ตลิ่งชัน  ระยะทาง 15 กิโลเมตร 3 สถานี (สายแดงอ่อน) โดยจะมีขบวนรถไฟรวมทั้งหมด 130 ตู้ เป็นขบวน 6 ตู้ 15 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และขบวน 4 ตู้ 10 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดที่ 160 กม./ชม. วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin ผลิตโดยบริษัท ฮิตาชิ จำกัด ที่โรงงาน Kasado จังหวัดยามากุจิ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับบริษัทฮิตาชินั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ประกอบด้วย มิตชูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม ที่ชนะประมูลโครงการนี้
 

ในระยะถัดไป สายสีแดงเข้ม ทิศเหนือ จะต่อขยายจากรังสิตขึ้นไปถึงธรรมศาสตร์  ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร  วงเงิน 6.57 พันล้านบาท  ทิศตะวันตก สายสีแดงอ่อนจะต่อขยายจากตลิ่งชันไปถึงศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท และตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 6.65 พันล้านบาท สำหรับ ทิศใต้ และ ทิศตะวันออก นั้นจะเป็น Missing Link ที่ลงใต้ดิน ระยะทางรวม 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท สายสีแดงเข้มจากสถานีกลางบางซื่อมายังสถานีกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือหัวลำโพงในปัจจุบัน โดยในอนาคตสายนี้จะต่อขยายลงใต้ไปจนถึงมหาชัย และสายสีแดงอ่อนจากสถานีกลางบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมากทางตะวันออก เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยส่วนต่อขยายทั้งหมดนี้ จะเปิดให้บริการภายในปี 2565

 


 
สถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station)

“สถานีกลางบางซื่อ” เป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยสถานีกลางบางซื่อถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานีแห่งนี้มีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร (Meter Gauge) ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา จุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. บขส. และ ชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL: Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับจอดรถที่ชั้นใต้ดินรวม 72,542 ตร.ม. รองรับได้ถึง 1,624 คัน


 
l รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (High-speed Rail linking 3 Airports)

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ได้ลงนามสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ด้วยมูลค่าเงินที่รัฐต้องร่วมลงทุน 1.17 แสนล้านบาท ระยะเวลาโครงการร่วมทุน 50 ปี ซึ่งจะเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงส่วนต่อขยาย อู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท 

สำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นี้ จะใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ) มีสถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา ผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แนวเส้นทางนี้ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ

- โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL) 


 

- โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension)
- โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง
 

ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยังครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ 

 
l รถไฟฟ้าความเร็วสูง สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ (High-speed Rail Projects)

โครงการรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ซึ่งจะเป็นทางคู่ ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) จัดแบ่งการดำเนินโครงการเป็นระยะเร่งด่วน คือ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สำหรับระยะกลาง คือ ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ และระยะยาว คือ ช่วงหัวหิน-ปาดังเบซาร์

 
 

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน [สายตะวันออกเฉียงเหนือ]

โดยโครงการแรกที่เริ่มดำเนินงานคือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (Bangkok–Nong Khai High-speed railway) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับไทยสูง โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางบกของภูมิภาคอาเซียน (Logistic Hub) ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategy Investment) ที่ส่งผลต่อความเจริญของประเทศไทยในระยะยาว 

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถที่สถานีเชียงรากน้อย ระบบรถ CR Series รุ่น Fuxing Hao บรรจุผู้โดยสารสูงสุด 600 คน/ขบวน มีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2566  สำหรับมูลค่าโครงการนี้ จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด ในส่วนการดำเนินการของโครงการใช้ความร่วมมือรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยฝ่ายไทยรับผิดชอบงานก่อสร้างด้านโยธาเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็น 75% ของมูลค่าโครงการ และอีก 25% เป็นส่วนของจีนรับผิดชอบ สำหรับดำเนินการด้านการออกแบบ การควบคุมงานโยธา งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม 

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งจะผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย รวมระยะทาง 356 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี ระบบรถไฟความเร็วสูง บรรจุผู้โดยสารสูงสุด 600 คน/ขบวน ความเร็วสูงสุดที่ใช้ในการออกแบบ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2568 ด้วยเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท  เมื่อเส้นทางช่วงนี้เสร็จ จะเชื่อมต่อกับไฮสปีดลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น-คุนหมิง) และมีการเดินรถร่วมกับรถสินค้าเฉพาะช่วงสะพานข้ามแม่น้ำโขง-นาทา 

 
รถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ [สายเหนือ] และ กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ [สายใต้]

สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ รวมระยะทาง 668 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 5.08 แสนล้านบาท และ กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ รวมระยะทาง 970 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 5.34 แสนล้านบาท แม้ว่าทั้ง 2 เส้นทางนี้จะมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ แต่ก็ยังติดปัญหาหลายด้าน ทำให้ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผน เพื่อเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)