อีอีซี เยือนญี่ปุ่น เดินหน้าผลักดัน ธุรกิจอากาศยาน-การแพทย์
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี นำโดย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยคณะได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงของทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่น เช่น นายอากิมาสะ อิชิคาวะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) นายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) นายชิเกโอะ โอยากิ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้า ญี่ปุ่น-ไทย ของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ผู้บริหารของธนาคารมิซุโฮะ รวมทั้งภาคเอกชนในจังหวัดไอจิ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ด้านการบินและโลจิสติกส์ที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความมั่นใจเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ EEC รวมทั้งผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยเน้นอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งไทยและญี่ปุ่นวางแผนที่จะพัฒนาร่วมกัน
“ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ความสำเร็จของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเป็นอย่างมาก และโครงการ EEC ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยและเป็นส่วนขยายของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขัน เนื่องจากเป็นการต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมของญี่ปุ่นในพื้นที่ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นการขยายฐานการผลิต และ supply chain ของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคให้เข้มแข็งมากขึ้น” นายสีหศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.ลัษมณ กล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานรายใหญ่ในต่างประเทศเห็นโอกาสของประเทศไทย ที่มีความได้เปรียบในต้นทุนการผลิต และ supply chain ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความต้องการอากาศยานและการซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น จึงได้มีการวางแผนที่จะขยายห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอากาศยานประเทศไทย เพื่อเข้าถึงตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจอีกสาขาหนึ่งคือเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อีอีซี โดยเมื่อช่วงวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางเจโทรกรุงเทพ ร่วมกับจังหวัดฟุกุชิมะและเมืองโกเบ จัดสัมมนาในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีความสนใจขยายตลาดสินค้าในประเทศไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย และได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคของเจโทร อีกด้วย