วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ พาส่อง 4 นวัตกรรรมเด่น ปี 2561
ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดศักยภาพการแข่งขัน กลไกการพัฒนาองค์ความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งตลอดปี 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE (Thammasart School of Engineering) ได้ดึงศักยภาพของการเป็นนวัตกรตามเทรนด์ของโลกยุคใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมมากมายเพื่อตอกย้ำบทบาทการเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมแห่งอนาคต (Engineering and Beyond) โดยมุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน และยังเป็นนวัตกรรมมีมูลค่า เป็นที่ต้องการของตลาดได้อีก ประกอบไปด้วย
คุณหมอ AI วินิจฉัยโรคภัยผ่านแอปพลิเคชัน
เทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันทำให้การรักษาโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การมีสุขภาพดีกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การตรวจคัดกรองโรค ให้สามารถรู้ก่อน และรักษาก่อนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ยิ่งเพิ่มความสำเร็จในการรักษา ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จึงได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการตรวจคัดกรองโรคภัยต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้แก่ แอปฯ DeepEye ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม การันตีด้วยรางวัล Grand Prix จากงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 45 (International Exhibition of Inventions) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ แอปฯ คิวทิส ดอทเอไอ AI คัดกรองมะเร็งผิวหนังง่ายๆด้วยกล้องสมาร์ทโฟน รู้ผลไวในแชะเดียว ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านหลักสูตรวิศวกรรมแห่งอนาคต
ทุกก้าวปลอดภัย ฝึกเดินไปกับ Space Walker
อีกผลงานที่ TSE ภาคภูมิใจ กวาดรางวัลจากหลายเวทีทั้งในไทยและต่างประเทศ “Space Walker” นวัตกรรมการทำกายภาพบำบัดเป็นกระบวนการที่สำคัญในการฟื้นฟู ควบคู่กับการรักษาตามปกติ แต่ปัญหาของการทำกายภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ คือ ต้องคอยระมัดระวังการสะดุดล้ม เพราะอาจทำให้ระยะเวลาการฟื้นฟูยาวนานออกไปอีก จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยพยุงการเดินให้มีประสิทธิภาพ “Space Walker” โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นำเทคนิคด้านวิศวกรรมมาออกแบบ ให้เป็นตัวช่วยในการฝึกเดิน ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยพยุงให้ผู้ป่วยรู้สึกมีน้ำหนักลดลง ลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า ทำให้เดินได้ไกลชึ้น โดยท่าทางการเดินยังเป็นธรรมชาติ เมื่อเทียบกับการเดินด้วยวอร์คเกอร์ปกติ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอ และยังสามารถป้องกันการหกล้มจากภาวะเข่าทรุดได้อีกด้วย
มองโดรนมุมใหม่ เป็นได้มากกว่าการถ่ายภาพ
ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนกลายเป็นทางเลือกสำหรับการถ่ายมุมสูงที่สามารถทำลายอุปสรรคต่างๆ ของการถ่ายภาพ เช่น ความสูง ความลาดชัน พื้นที่เสี่ยงอันตรายต่างๆ ซึ่ง ดร.กฤษฎา ไชยสาร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา TSE ได้นำประสิทธิภาพของโดรนมาต่อยอดในงานวิศวกรรม โดยนำโดรนมาช่วยสำรวจสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ทำจากคอนกรีต ได้แก่ เขื่อน สะพาน ทางด่วน ที่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรรมโยธา สำรวจความแข็งแรงของโครงสร้าง รอยร้าว การเอียง และการทรุด โดยนำภาพที่ได้จากการถ่ายภาพของโดรน มาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Visual Inspection) เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้าง แสดงผลเป็นเส้นสีเหลือง และสร้างแผนที่ความเสียหายได้อัตโนมัติ ซึ่งวิศวกรสามารถนำแบบจำลองที่ได้ ไปตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป
พาหนะเล็กพับเก็บง่าย ไลฟ์สไตล์เอจจิ่งโซไซตี้ (Aging Society)
เริ่มจากผลงานของนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล ที่วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของตลาดในประเทศ เกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความจำเป็นในสังคมผู้สูงอายุ โดยได้พัฒนาพาหนะขนาดเล็กพกพาง่าย “TU-V” ภายใต้การควบคุมของ
รองศาสตราจารย์ ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุ เน้นเทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสูงมาพัฒนา เพื่อให้มีนวัตกรรมพาหนะชิ้นนี้มีน้ำหนักเบา พับเก็บง่าย พกพาสะดวก และต้นทุนถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2561
รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล อุชายภิชาติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา TSE ได้สร้างสรรค์ นำเสนอผลงานที่มีความหลากหลายอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดศักยภาพการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนอย่างเนื่อง แต่ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จด้านงานวิจัย คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ให้มีไฟในการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดย TSE มุ่งเน้นให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนนำความรู้ในเชิงทฤษฎีนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ ฝึกให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบ เรียนรู้การแก้ไขปัญหา ทำงานเป็นทีม และสามารถนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนไปต่อยอดสู่การใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่ TSE อยากปลูกฝังให้กับคนรุ่นใหม่ และมั่นใจว่านักศึกษาของ TSE จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต
เกี่ยวกับ TSE
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasart School of Engineering) เป็นสถาบันชั้นนำของเอเชียด้านวิศวกรรม มีหลักสูตรที่ครอบคลุม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และหลักสูตร 2 ปริญญาแห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย และทิศทางด้านวิศวกรรมของโลก อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ โดยผู้เรียนจะมีโอกาสที่จะได้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์ที่จะได้สร้างสรรค์งานวิจัยในศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นส่งเสริมให้ผู้เรียน นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ไปพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของอนาคต