ไทยสเตนเลสสตีล เปิดโรงงาน ให้ชมไลน์ผลิตจากพลังงานโซลาร์เซลล์ พร้อมเผยทุกกระบวนการติดตั้ง

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ค. 2562
  • Share :

เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอุตสาหกรรม เอ็ม รีพอร์ต ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ” โดยงานจัดขึ้น ณ บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด อ.บ้านสร้าง จ. ปราจีนบุรี

ปัจจุบันปัญหาด้านการใช้พลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชากรไทย ดังเช่นภาวะวิกฤตการณ์ของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลให้ภาคประชาชนประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ระยะเวลาหนึ่ง โดยภาคอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลภาวะชนิดนี้ขึ้น

สำนักข่าวอุตสาหกรรม เอ็ม รีพอร์ต เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงได้มีการจัดงานเสวนา “ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ” โดยมีคุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด, คุณภาคภูมิ บูรณบุณย์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), Mr. Ammar Azhar วิศวกรอาวุโส Panasonic Malaysia (Solar Module Factory), คุณอาชว์ ริยะจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ส่วนวิศวกรรมขาย บริษัท พานาโซนิค ไลฟ์ โซลูชั่นส์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, และ คุณพินิจ อัศวานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โซล คอนซัลติ้ง จำกัด ให้เกียรติเป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมีคุณชนาภา เลิศรุ่งเรือง จากสำนักข่าวอุตสาหกรรม เอ็ม รีพอร์ต เป็นผู้ดำเนินรายการ

เป้าหมายของการจัดงานสัมมนานี้ เพื่อให้เป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการศึกษาโครงการ ได้ทราบถึงผลลัพธ์ในการติดตั้ง จุดคุ้มทุนมีระยะเวลาอยู่ที่เท่าใด สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงข้อกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของทางภาครัฐ ตลอดจนบริษัทที่รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ 

คุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องครัวสเตนเลสสตีลและกระทะนอนสติ๊กคุณภาพ ภายใต้ตรา “Seagull” และ ตรา “จรวด” ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการนำร่องติดตั้งรูฟท็อปโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานแสงอาทิตย์” มาใช้ในโรงงานตั้งแต่ปี 2559 ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ พร้อมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้ใช้งานจริง ทั้งสิ่งสำคัญในการติดตั้ง การเตรียมพื้นที่ ระยะเวลาในการติดตั้ง ตัวมิเตอร์ที่ใช้ แผงวงจรโซลาร์เซลล์ พารานอมิเตอร์ (เครื่องวัดความเข้มของแสง) ที่มีประสิทธิภาพ ระบบ Safety ในด้านของความปลอดภัย ข้อจำกัดในเรื่องของช่วงเวลาในการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการดีไซน์ของ Engineering Procurement and Construction (EPC)

การรับประกันของผู้ผลิต ซึ่งตัวผู้ผลิตเองจะต้องการันตีในเรื่องนี้ให้ได้ ในส่วนของทางไทยสเตนเลสสตีลนั้น เราเลือก Panasonic ด้วยเหตุผลสำคัญคือระยะเวลาในการใช้งาน ซึ่งเราได้มีการไปดูโรงงานของพานาโซนิคที่ญี่ปุ่น พบว่าแผงโซลาร์ที่ติดตั้งอยู่นั้นมีอายุการใช้งานมานานกว่า 25 ปีแล้ว ทำให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพของแผงโซลาร์อย่างแท้จริง 

 

ถัดจากผู้ใช้งานจริงแล้ว จึงเป็นคราวของ คุณภาคภูมิ บูรณบุณย์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ความรู้ในด้านของนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับผู้มีความสนใจ เช่น ขั้นตอนการเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งผู้สนใจ สามารถยื่นคำขอได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 

Mr. Ammar Azhar วิศวกรอาวุโส บริษัท Panasonic Malaysia (Solar Module Factory) ผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ ได้กล่าวนำเสนอประวัติความเป็นมาของธุรกิจโซลาร์เซลล์ของ Panasonic ตามด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทในเชิงเทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์ในการดูดซับแสงอาทิตย์ และสะท้อนแสงอาทิตย์ไว้ภายในแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงสมรรถภาพที่ได้ ความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นในตลาดอย่างไร และ แผงโซลาร์เซลล์ HIT ที่ทางไทยสเตนเลสสตีลเลือกใช้มีจุดเด่นอย่างไร พร้อมกล่าวแสดงความมั่นใจถึงความน่าเชื่อถือในสินค้า และบริการของทางบริษัทเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงแนะนำการนำไปใช้งานอีกด้วย


คุณอาชว์ ริยะจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ส่วนวิศวกรรมขาย บริษัท พานาโซนิค ไลฟ์ โซลูชั่นส์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงแนวทางการประหยัดพลังงานอื่น ๆ นอกเหนือจากติดตั้งโซลาร์เซลล์ เช่น การรวมระบบควบคุมอุณหภูมิน้ำ จากระบบน้ำเย็น และระบบน้ำร้อน ที่แยกกันให้กลายเป็นระบบเดียวกัน, การใช้น้ำร้อนจาก Boiler มาช่วยในการให้ความร้อนในส่วนอื่นด้วย Heat Pump เพื่อนำน้ำร้อนไปใช้ให้อุณหภูมิเตาอบ และนำลมเย็นที่เป็นเหมือนไอเสียจาก Boiler มาใช้ในการลดอุณหภูมิภายในโรงงาน, การปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงงาน ด้วยการเปลี่ยนจากเครื่องปรับอากาศ มาใช้พัดลมปรับอากาศที่ประหยัดไฟกว่า และอื่น ๆ พร้อมรายงานผลการใช้งานจริงว่า แต่ละแนวทาง จะสามารถคืนทุนได้เมื่อไร พร้อมแนะนำสินค้าอื่น ๆ เพื่อการประหยัดพลังงานของบริษัท

 


คุณพินิจ อัศวานุชิต จาก บริษัท อินเตอร์โซล คอนซัลติ้ง จำกัด EPC ที่มีความชำนาญด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความรู้ด้านการติดตั้ง การทำงานจริงของระบบโซลาร์เซลล์ ระยะเวลาในการทำงานสู่จุดคุ้มทุน ปัจจัยด้านสภาพอากาศในเรื่องของลม รูปแบบการวางโซลาร์เซลล์ มีซอฟต์แวร์ในการคำนวณให้แผงวงจรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การคำนึงถึงความปลอดภัยด้านอัคคีภัย การใช้โดรนบินขึ้นสำรวจและตรวจวัดอุณหภูมิความร้อนสะสมบนหลังคา ทิศทางในการติดตั้งที่ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานมากที่สุด

โดยงานนี้ได้รับการตอบรับจากบริษัทชั้นนำภาคอุตสาหกรรมของไทยที่สนใจในการใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์ เพื่อทดแทนพลังงานไฟฟ้า และเป็นการแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างระยะยาว

ก่อนจบการเสวนา คุณอานนท์ ทิ้งท้ายได้อย่างน่าขบคิดว่า “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็หมือนกับการสร้างบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งในสมัยก่อนเราให้ความสำคัญกับผู้รับเหมามากที่สุด ด้วยเหตุผลความกังวลในด้านของความแข็งแรงและความคงทน แต่ปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับผู้ออกแบบบ้านมากที่สุด หมายความถึงว่า ถ้าการออกแบบมีความผิดพลาดตั้งแต่ต้นแล้วนั้น การสร้างบ้านก็จะผิดต่อเนื่องกันไปหมดเลย”

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของงานนี้ คือทางบริษัทไทยสเตนเลสสสตีล ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเยี่ยมชมสายการผลิตและปฏิบัติงานจริงภายในโรงงาน รวมถึงระบบโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการ นักธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมงานวันนี้ สามารถได้รับความเข้าใจทั้งทางภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ตอบโจทย์ทุกประเด็นให้ได้ทราบก่อนลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์  

รับชมการถ่ายทอดสดย้อนหลัง คลิก