อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน จะกลับมาคึกคึกหรือไม่ในปี 2019?
สมาร์ทโฟน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนในยุคปัจจุบัน ภาพรวมในปีที่ผ่านมานั้น ความเคลื่อนไหวที่เป็นข่าวใหญ่ดูจะเป็นเรื่องของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เสียมาก แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงผู้บริโภคที่ควรให้ความสนใจเท่านั้น ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุ และอุตสาหกรรม Machine Tools เอง ก็ควรให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้เช่นเดียวกัน
ช่วงปีแห่งการชะลอตัว
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 จนถึงต้นปี 2018 การเติบโตของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ส่งผลให้ความต้องการเครื่องจักรการผลิตที่เกี่ยวข้อง เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เครื่องฉีดพลาสติก และอื่น ๆ มีการขยายตัวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อย่าง Apple ได้ประกาศยอดขายในไตรมาสแรกปี 2018 มีมูลค่าอยู่ที่ 61,100 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นจากปีก่อน 16% ซึ่ง CEO Tim Cook กล่าวว่าเป็นยอดขายที่ดี
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ ได้รายงานว่ายอดผลิตได้ตกลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีมากนัก
ถัดมาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 ความต้องการสมาร์ทโฟนได้ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ความต้องการ Machine Tools และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนหนึ่งเริ่มเบนเข็มไปยังอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่นับวันยิ่งมีจำนวนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนในช่วงปลายปี 2018 เอง ความซบเซาของตลาดสมาร์ทโฟนก็ยิ่งส่งผลต่อซัพพลายเออร์อย่างเห็นชัด ด้วยการชะลอตัวของยอดออเดอร์จากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน รวมไปถึงกรณีที่ Huawei ถูกแบนจากหลายประเทศในช่วงสิ้นปีอีกด้วย ซึ่งด้วยการที่สมาร์ทโฟนของ Huawei มีส่วนแบ่งมากเป็นอันดับที่ 3 ในตลาดโลกนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าประเด็นนี้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในวงกว้างไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนไม่ได้เพียงแค่แง่ลบ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่สามารถคาดหวังได้อยู่ไม่น้อย
ชิ้นส่วนคุณภาพสูง แรงกระเพื่อมต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในช่วงปลายปี คือ การเปิดตัว iPhone โมเดลใหม่ในเดือนกันยายน ซึ่งแม้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ก็มีผู้ผลิตอีกส่วนหนึ่งที่แสดงความเห็นในทางตรงกันข้าม ด้วยการรายงานว่าการมาของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่นี้ช่วยให้บริษัทสามารถทำยอดได้มากขึ้น จึงทำให้แนวโน้มหลังจากนี้สามารถคาดการณ์ได้ยากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม หนึ่งในชิ้นส่วนที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีความต้องการสูงขึ้น ก็คือ ตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) ซึ่งมีความต้องการสูงมากเสียจนขาดตลาดเลยทีเดียว
อีกชิ้นส่วนสำคัญ ที่เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ก็คือ จอภาพ OLED (Organic Light-Emitting Diode) ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า จะมีการนำมาใช้ในการผลิตสมาร์ทโฟนมากถึง 30% ภายในปี 2030
โดยสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จอ OLED จะมีความต้องการสูงขึ้นนั้น สืบเนื่องมาจากจุดเด่นของจอภาพชนิดนี้ คือ สามารถผลิตให้บางกว่าจอ LCD ได้เป็นอย่างมาก มีความยืดหยุ่น ดัดให้โค้งงอได้ และไม่จำเป็นต้องอาศัย Backlight ในการให้แสง ส่งผลให้มีอิสระในการนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์สูงกว่าจอภาพแบบ LCD
สมาร์ทโฟนพับได้
คุณสมบัติเหล่านี้เอง ที่จะนำไปสู่ “สมาร์ทโฟนพับได้” ซึ่ง Samsung ผู้ครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “สมาร์ทโฟนพับได้คืออนาคตของสมาร์ทโฟน” ซึ่งผู้ผลิตค่ายอื่น ๆ เช่น Royole เอง ก็ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนพับได้ของตนแล้วอีกด้วย รวมไปถึงค่ายที่มีการคาดการณ์ว่า จะลงมาร่วมเล่นในเทรนด์นี้ อย่าง Motorola, LG, Huawei, และ ZTE เช่นเดียวกัน หากสมาร์ทโฟนพับได้กลายเป็นที่แพร่หลายแล้ว ก็คาดการณ์ได้ว่าตลาดสมาร์ทโฟนอาจจะกลับมาคึกคักอีกคั้ง และจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
นอกจากนี้ การมาถึงของ 5G อาจเป็นอีกส่วนที่จะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูงเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้วยปัจจัยอันหลากหลาย และอนาคตที่ไม่แน่ชัดว่าจะไปในทิศทางใดเช่นนี้ ทำให้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่า ในปี 2019 แนวโน้มเหล่านี้จะชัดเจนขึ้นหรือไม่ และควรจะปรับตัวไปในทิศทางใด เพื่อให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถก้าวตามกระแสเช่นนี้ใดทันท่วงที และผู้ผลิตเอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพัฒนาการเช่นนี้ ด้วยการยกระดับการผลิตของตนให้สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน