7 เทคโนโลยี สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านโครงการ INCIT-EV ในยุโรป
สถานีชาร์จไฟฟ้า อีกสิ่งที่เป็นข้อสงสัยมาอย่างยาวนานว่า จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) หรือไม่ สืบเนื่องจากความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งลำบากกว่าการพัฒนายานยนต์ รวมถึงระยะทางที่วิ่งได้ของแบตเตอรี่ไฟฟ้ายังด้อยกว่ารถที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน ซึ่งยุโรป หนึ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการสาธิตเทคโนโลยี ที่ผู้ใช้ถนนสามารถเข้าถึงได้ทั่วทวีปยุโรป ภายใต้โครงการ “INCIT-EV” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
INCIT-EV คือส่วนหนึ่งของแผนงาน “Horizon 2020” โครงการวิจัยนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป โดยมีงบประมาณสูงถึง 80 ล้านยูโร มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งหมด 7 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2014 และจะสิ้นสุดลงในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง และเปิดกว้างให้เข้าถึงได้จากทุกฝ่าย
งบประมาณของโครงการ INCIT-EV ตั้งไว้สูงถึง 15 ล้านยูโร เพื่อสาธิตเทคโนโลยีสถานีชาร์จไฟฟ้าในสภาพแวดล้อมจริง และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ด้วยการติดตั้งระบบชาร์จไฟทั้งหมด 7 รูปแบบ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในสภาพแวดล้อมการขับขี่ต่าง ๆ เช่น การวิ่งในเมือง การวิ่งระยะทางไกล และอื่น ๆ ใน 7 เมืองทั่วทวีปยุโรป
INCIT-EV มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งหมด 48 เดือน เริ่มตั้งแต่มกราคม 2020 ถึงธันวาคม 2023 โดยแยกเป็น 2 เฟส ดังนี้
เฟสที่ 1
วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ เพื่อประเมินว่าเทคโนโลยีใดบ้างที่ผู้บริโภคต้องการ และเทคโนโลยีใดจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานภายในเดือนเมษายน 2020
เฟสที่ 2
สาธิตเทคโนโลยีที่ทั้งหมด 7 รายการ ประกอบด้วย
- ระบบชาร์จไฟสำหรับสภาพแวดล้อมในตัวเมือง ติดตั้งที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- ระบบชาร์จไฟกำลังสูงสำหรับชานเมือง เมืองทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีบ
- “Smart Charging” ระบบชาร์จไฟ 2 ทิศทาง เมืองอัมสเตอร์ดัม และเมืองอูเทรคต์ ประเทศเนเธอแลนด์
- ระบบชาร์จไฟแบบเหนี่ยวนำสำหรับพื้นที่ชนบท เมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส
- ฮับชาร์จไฟในลานจอดรถ และยานพาหนะเพื่อ Ride-Sharing เมืองตูริน ประเทศอิตาลี่
- ระบบชาร์จไฟ 2 ทิศทางกำลังไฟต่ำสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน
- ระบบชาร์จไฟไร้สาย เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกติดตั้งให้ประชาชนทั่วไปเข้าทดลองใช้ได้ เพื่อตรวจสอบผลตอบรับจากการใช้งานจริง ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานจริงหรือไม่ และมีปัญหาใดบ้าง ซึ่งการทดลองที่ผู้ใช้มีส่วนร่วม จะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยี และ Ecosystem สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีความก้าวหน้าที่รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากกว่าที่ผ่านมา และมีประสิทธิภาพกว่าการวิเคราะห์ความต้องการโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ทดลองใช้งานจริง
นอกจากนี้ เทคโนโลยีทั้งหมด ยังถูกพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในท้องถนนที่มีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะหลัก ให้ความสำคัญกับการออกแบบสถานีชาร์จที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานเดิมแทนที่การสร้างขึ้นใหม่ และตั้งเป้ารวมข้อมูลผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่ง Transmission System Operator (TSO) จากประเทศสโลวีเนีย และสเปน แสดงความกังวลว่า อาจเกิดปัญหาขึ้นต่อการบริหารจัดการระบบพลังงานหากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป
สำหรับโครงการ INCIT-EV เกิดขึ้นภายใต้การนำของเรโนลต์ (Renault) และ 32 พาร์ทเนอร์ทั่วยุโรป ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย ภาครัฐบาล สตาร์ทอัพ และ SME จากทั่วยุโรป ซึ่งมีจุดประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้นในอนาคต
จากโครงการนี้ จะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรป มีเป้าหมายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ถนน รวมถึงภาคอื่น ๆ มีโอกาสได้ร่วมทดลอง วิเคราะห์ผลตอบรับ และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานจริง ด้วยการทดลองในสเกลใหญ่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มผู้ใช้ยานยนต์เกิดความตื่นตัวมากขึ้นไปด้วย