ARM คลื่นลูกใหม่ในวงการโปรเซสเซอร์

อัปเดตล่าสุด 20 พ.ย. 2561
  • Share :

วงการผู้พัฒนาโปรเซสเซอร์คุณภาพสูง กำลังจับตาคลื่นลูกใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่ววงการ โดยมี Cavium บริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ประกอบธุรกิจโซลูชันเพื่อเซิร์ฟเวอร์ และเซมิคอนดัคเตอร์ เป็นผู้ก่อคลื่นลูกนี้ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของซูเปอร์คอมพิวเตอร์เลยทีเดียว

คลื่นลูกนี้ คือ “Astra” ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ “ThunderX2” ซึ่งประกอบด้วย “ARM Processor” เป็นจำนวนมากถึง 125,328 หน่วย และมีความเร็วในการประมวลผลสูงเป็นลำดับที่ 205 ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั้งโลก จัดเป็นลำดับต้น ๆ ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับท็อปคลาส

Astra ถูกออกแบบขึ้นโดย Hewlett Packard Enterprise (HPE) เพื่อใช้เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับ Sandia National Laboratories โดยเฉพาะ ปัจจุบันมีความเร็วในการประมวลผลสูงถึง 1.5 peta (1015 ครั้งต่อวินาที) และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกหลังพัฒนาแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพของ ARM Processor ให้ตลาดเห็นว่า มีประสิทธิภาพที่สามารถเทียบเคียงกับเจ้าตลาดอย่าง Intel ซึ่งครองตลาดอยู่มากถึง 95.2% ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับท็อปคลาสจำนวน 500 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ โปรเซสเซอร์แบบ ARM ยังไม่มีตลาดเป็นของตัวเอง และจำนวนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ ARM ก็มีจำนวนน้อย  รวมถึงแอปพลิเคชันที่รองรับก็ยังหาซื้อได้ยาก จึงเป็นสาเหตุให้ HPE ได้แสดงความตั้งใจจะผลักดัน ARM ให้ขึ้นเป็นโปรเซสเซอร์หลักในวงการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ARM จะขึ้นไปเทียบเคียง Intel และ AMD ได้

ส่วนผู้ผลิตรายอื่น นอกจาก HPE แล้ว ยังมีอีก 2 ราย ที่เลือกใช้ ThunderX2 ในการพัฒนามากขึ้น คือ Cray จากสหรัฐฯ และ GIGABYTE จากไต้หวัน รวมถึง Fujitsu ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พัฒนาโปรเซสเซอร์ชนิดใหม่สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “Post-K” แล้วเสร็จ และยังมี Huawei อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว โปรเซสเซอร์ยังเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อีกด้วย และการมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาในวงการเช่นนี้เอง ที่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดนี้รุนแรงมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้