“รัสเซีย” จ่อดึง “Sukhoi Superjet” ลงทุนอากาศยานตั้งไทยเป็นฮับผลิตชิ้นส่วน

อัปเดตล่าสุด 27 ธ.ค. 2561
  • Share :

ไทย-รัสเซีย จับมือลงนามบันทึกความเข้าใจ ด้านความร่วมมือในการพัฒนา ผลักดัน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรม พุ่งเป้าดึงเอกชนทั้ง 2 ประเทศจับคู่ธุรกิจ จ่อดึง “Sukhoi Superjet” บริษัทชั้นนำด้านอากาศยานรัสเซียลงทุนไทย หวังให้ไทยเป็นฮับ


นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561ที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วย ความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย (Joint Commission: JC) ครั้งที่ 7 และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ด้านความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายในด้านต่างๆ

โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่ม Start Ups และ SMEs การถ่ายทอดและยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมกิจกรรมของภาคธุรกิจ การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้เกิดการลงทุนระหว่างกันใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และในเขตประกอบการ Far East ของรัสเซีย

โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้การดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การกำหนดโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

ซึ่งรัสเซียเองมีความสนใจที่จะจับคู่ธุรกิจกับเอกชนไทย และลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งมีบริษัท Sukhoi Superjet (ซุคฮอย ซูเปอร์เจ็ท) สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยและเพื่อให้ไทยเป็นฮับการลงผลิต รวมถึงยังสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หลังจากที่มีนโยบายขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ

ในส่วนของการดำเนินงานในลำดับต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (Action Plan on Industrial Cooperation) ระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมประเด็นความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ความร่วมมือด้าน Factory 4.0 for Industry 4.0 เศรษฐกิจหมุนเวียนการพัฒนา SMEs การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม อากาศยาน รวมถึงเรื่อง Robotics และAutomation

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันจะเป็นกลไกสําคัญ ในการช่วยสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิต และการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 นําไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

Mr. Alexey Gruzdev รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย กล่าวว่า ไทยกับรัสเซียมีความสัมพันธ์นานกว่า 120 ปี ยินดีที่ร่วมลงนามเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 3 ด้านด้วยกันภายใต้ MOU ทั้ง 3 ฉบับ และต้องการที่จะขยายการลงทุนมาที่ไทย