เอ็นไอเอ ผนึก 3 หน่วยงาน หนุนการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์

อัปเดตล่าสุด 21 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 500 Reads   

กรุงเทพ 20 กุมภาพันธ์ 2562 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลสำเร็จจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนการดำเนินงานโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ ล่าสุดสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ได้เอง โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 78,000-90,000 บาท ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 120,000-200,000 บาท ทั้งนี้ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ และเครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและ แผ่นดาม พร้อมช่วยทดแทนการนำเข้าได้เป็นอย่างดี

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นที่ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ NIA มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์นั้น ล่าสุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (ISO13485) จาก TÜV SÜD (ทูฟ ซูด) ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแห่งแรกของไทย สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อใช้ในประเทศได้เอง ด้วยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้รับสิทธิบัตรจากต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน นับได้ว่าเป็นการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศอย่างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ และเป็นการใช้ประโยชน์จากพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทําให้พลาสติกชีวภาพกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กระบวนการผลิตสีเขียวได้อย่างแท้จริง

“ทั้งนี้ จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น พอลิแอล-แลคไทด์ (พีแอลแอล) พอลิแอล-แลคไทด์-โค-คาโปรแลคโทน (พีแอลซี) พอลิแอล-แลคไทด์-โค-ไกลคอไลด์ (พีแอลจี) จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 78,000-90,000 บาท ซึ่งถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 120,000-200,000 บาท โดยเม็ดพลาสติกเกรดการแพทย์นี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และ เครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยทดแทนการนำเข้า และการสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่น่าภาคภูมิใจ ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี ที่จะเป็นแนวทางผลักดันให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center ของ NIA ที่กำหนดให้ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญด้านเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ Deep Tech ที่มุ่งเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและการสร้างอุตสาหกรรมสาขาใหม่ๆตามแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่มุ่งให้เกิดบริการ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินงานในแบบบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเกษตรไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

เมื่อเร็วๆนี้ NIA โดยนางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC center) เป็นตัวแทนเข้าร่วมงานแถลงข่าวความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลง “การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ระยะที่ 2 (ช่วงทดสอบตลาด “การผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์”) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมงานด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th  , facebook.com/NIAThailand