Mitsubishi Aircraft Corporation มั่นใจ “SpaceJet” จะไปได้สวย
Mitsubishi Aircraft Corporation เตรียมรุกตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ด้วยการเดินหน้าพัฒนาอากาศยานตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเครื่องบินเดิมเป็น “Mitsubishi SpaceJet” เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ ซึ่งในช่วงที่ Bombardier กำลังพิจารณาถอนตัวจากตลาดเช่นนี้ ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคต ตลาดอากาศยานขนาดเล็กแบบเครื่องยนต์เจ็ต จะกลายเป็นการแข่งขันระหว่าง Mitsubishi และ Embraer ก็เป็นได้
แบบจำลองภายในของ “SpaceJet M100” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในขณะนี้
ภายในงาน Paris Air Show Mitsubishi Aircraft Corporation ได้ประกาศพัฒนาอากาศยานรุ่นใหม่ “SpaceJet M100” รองรับผู้โดยสาร 65 - 88 ที่นั่ง และมีกำหนดเข้าสู่ตลาดภายในปี 2023 โดยภายในถูกออกแบบโดยยึดความสะดวกสบายเป็นสำคัญ เปลี่ยนเก้าอี้ให้มีความดว้างเพิ่มขึ้น ทำให้ได้เครื่องบินที่ภายในมีพื้นที่กว้างขวาง ต่างจากอากาศยานภูมิภาค (Regional Airliner) โดยทั่วไปที่มีที่นั่งรวมเกือบ 100 ตำแหน่ง ซึ่งนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้นอีกด้วย
ทางบริษัทคาดการณ์ว่า ช่วงเวลา 20 ปีนับจากนี้ไป จะมีความต้องการอากาศยานภูมิภาคอยู่ที่ 5,137 ลำ และคาดการณ์ว่า 40% ของจำนวนนี้ จะเป็นเครื่องบินค่ายอเมริกัน
ทางด้าน Bombardier ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งในตลาดนั้น หลังจากที่ “C Series” เครื่องบินขนาด 100-150 ที่นั่ง ได้พ่ายแพ้ให้กับ Boeing จึงตัดสินใจขายธุรกิจในเครือ “CRJ” ให้กับ Mitsuibishi และพิจารณาถอนตัวออกจากตลาดอยู่ในขณะนี้
ในขณะเดียวกันนี้เอง Embraer อยู่ระหว่างการเดินหน้าแผนการเปิดตัวกิจการร่วมค้ากับ Boeing ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอากาศยานคาดการณ์ว่า บริษัทใหญ่อย่าง Boeing คงไม่ลงมาเล่นในตลาดอากาศยานภูมิภาค ส่วน Bombardier เอง ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลง “Scope clause” ข้อตกลงระหว่างสหรัฐ สายการบิน และสหภาพนักบิน ซึ่งมีแนวโน้มที่ Bombardier จะต้องชะลอการพัฒนาอากาศยาน 90 ที่นั่งไว้ก่อน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Mitsubishi Aircraft Corporation เล็งเห็นว่า ช่วงเวลานี้เอง ที่เป็นโอกาศอันดีของบริษัทตน
แน่นอนว่า การประกาศพัฒนา M100 ของ Mitsubishi เอง ก็ได้รับผลกระทบจาก Scope clause เช่นกัน โดย Mr. Hisakazu Mizutani ประธานบริษัท Mitsubishi Aircraft Corporation กล่าวว่า “เดิมทีเราเคยคาดหวังว่าข้อตกลงนี้จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องจำนวนที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงต้องพัฒนาอากาศยานที่เป็นไปตามข้อตกลง และสามารถตอบโจทย์ลูกค้า และผู้โดยสารได้พร้อมกัน”
ทางบริษัทรายงานว่า ปัจจุบัน มียอดสั่ง SpaceJet M90 อยู่ที่ 400 เครื่อง โดยที่เครื่องลำแรกคาดว่าจะสามารถจัดส่งได้ภายในช่วงหลังปี 2025 ซึ่งกว่าครึ่งของยอดสั่งมาจากสายการบินในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลง Scope clause ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าจะมีสายการบินที่ต้องเปลี่ยนออเดอร์จาก M90 มาเป็น M100 แทน
ซึ่งในกรณีนี้ จะส่งผลให้การจัดส่งอากาศยานเกิดความล่าช้าขึ้น และส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะตัดสินใจเรื่องเหล่านี้คือสายการบิน ทางบริษัทจึงจะให้ความสำคัญกับการตัดสินใจเหล่านั้นเป็นหลัก และชี้แจงว่าหากบริษัทสามารถทำยอดขายได้ล่าช้าลง ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
ในอีกด้านหนึ่ง การซื้อกิจการ Bombardier คือแนวทางที่สามารถนำมาชดเชยในส่วนนี้ได้ ซึ่งหากการเจรจาดำเนินไปได้ด้วยดี Mitsuibishi ก็จะสามารถทำรายได้จากบริการหลังการขายเพื่อชดเชยรายได้ที่ล่าช้าไป ซึ่งในส่วนนี้ ต้องรอดูเนื้อหาการซื้อขายกันต่อไป