“Automotive Summit 2019” งานรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อปรับทัพอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย รับกระแส Smart Mobility สู่การผลิตแห่งอนาคต 19-20 มิ.ย.นี้ ไบเทค บางนา

อัปเดตล่าสุด 31 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 540 Reads   

สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือในการจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ “Automotive Summit 2019” การรวมตัวครั้งสำคัญของผู้ประกอบการยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงนักอุตสาหกรรมชั้นนำจากหลากหลายภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “Smart Mobility Driving Tomorrow’s Society” เพื่อรับทราบ แบ่งปันข้อมูลความรู้ และเทรนด์เทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหาร ผู้นำธุรกิจและผู้ผลิตยานยนต์ด้วยกัน โดยงานนี้จะจัดขึ้นภายในงาน Manufacturing expo 2019 ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา 

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมานานกว่า 60 ปี ด้วยการเกิดของเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ทำให้ภาครัฐได้มีการส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ 

การส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ จึงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่เพียงแต่สร้างอุปสงค์สืบเนื่องไปยังผู้ผลิต แต่ยังรวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการพึ่งพิงพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของการดำเนินนโยบายส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยานยนต์สมัยใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 มียอดการผลิตเติบโตจาก 1.95 ล้านคัน ในปี พ.ศ. 2560 เป็นจำนวน 2.16 ล้านคัน ในปี พ.ศ. 2561 โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศจำนวน 1.05 ล้านคัน และส่งออกจำนวน 1.1 ล้านคัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 คาดว่ายอดการผลิตโดยรวมจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคัน ซึ่งแบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 1.1 ล้านคัน และมีปริมาณการส่งออก 1.1 ล้านคันเช่นกัน  โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน พ.ศ. 2562 ดำเนินการผลิตไปแล้วจำนวน 711,700 คัน ซึ่งมีปริมาณการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้วสูงกว่า 5.52% โดยจำหน่ายในประเทศประมาณ 349,600 คัน เติบโตขึ้น 10.5% สำหรับปริมาณการส่งออก 4 เดือนที่ผ่านมารวม 367,000 คัน ลดลง 0.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย มีผลกระทบค่อนข้างมาก สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) นั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560  มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยปี พ.ศ. 2560 ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV)  รวม 8,900 คัน เพิ่มเป็น 25,200 คันในปี พ.ศ. 2561 สำหรับในปี พ.ศ. 2562 นี้คาดว่ายอดการผลิตจะเติบโตถึง 36,000 คัน และในปี พ.ศ. 2563 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) ยอดผลิตจะมากกว่า 50,000 คัน

การปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับ Smart Mobility ค่ายรถต่างๆ ได้มีการเตรียมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) เพื่อป้อนสู่ตลาด โดยปัจจุบันมีค่ายรถที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ผลิตรถไฮบริด (Hybrid, HEV) จำนวน 4 ราย รถปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid, PHEV) จำนวน 4 รายและรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ( Battery Electric Vehicle, BEV ) จำนวน1 ราย รวมทั้งสิ้น 9 รายโดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณปีละ 500,000 คัน นับเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 54,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่ายรถยนต์ที่รอการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) อีกจำนวน 7 ราย และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีผู้ที่ได้รับการส่งเสริมแล้วมากกว่า 3 ราย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นทำการผลิตได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้งในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วกว่า 400 แห่ง 

นอกจากการที่ Smart Mobility เปลี่ยนจากเครื่องยนต์มาเป็นระบบไฟฟ้าแล้วนั้น ยังสามารถเชื่อมต่อ กับสรรพสิ่งต่างๆ บนถนนได้ เช่น ระหว่างรถยนต์กับรถยนต์ รถยนต์กับคน รถยนต์กับสัญญาณจราจร รวมถึงระบบขับขี่อัตโนมัติ ปัจจุบันมีรถหลายยี่ห้อได้นำความล้ำหน้าเหล่านี้ใส่ไว้ในรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในปัจจุบันอยู่บ้างแล้ว เช่น ระบบครูสคอนโทรล (Cruise Control) ระบบเบรกอัตโนมัติ การควบคุมการล็อครถอัตโนมัติจากระยะไกล และการเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนที่ผู้ขับขี่มาถึงตัวรถ เป็นต้น

มาตรการการเปลี่ยนผ่านสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งสำคัญคือการปรับตัวในด้านการผลิต เช่น ชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกัน อาทิ ตัวถัง เบรก อุปกรณ์ภายใน เบาะ อุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ฯลฯ ต้องมีข้อมูลจำเพาะ (Spec) ที่แตกต่างกัน โดยมีแนวโน้มที่จะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักที่เบา เพราะฉะนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องมีการปรับตัวสำหรับกระบวนการผลิตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และมีการผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบการจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System, BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (Drive Control Unit, DCU) อินเวอร์เตอร์ (Inverter) คอนเวอร์เตอร์ (Converter) ฯลฯ  โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตนำประโยชน์ของเทคโนโลยีระดับสูง (Advanced Technology) ที่เกี่ยวกับระบบโรบอทติกส์ (Robotics) และ Automation มาใช้กับเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่ม Productivity


นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน กรรมการสถาบันยานยนต์ ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “สำหรับแผนการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ ในเบื้องต้นสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น มาตรฐานเต้ารับ เต้าเสียบ และที่อยู่ระหว่างการจัดทำ คือ มาตรฐานตู้ชาร์จ และมาตรฐานแบตเตอรี่ และอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรฐานอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากนี้มีการสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียน โดยตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่เดียวกับ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการทดสอบสมรรถนะของแบตเตอรี่ ทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ และมีห้องทดสอบนิรภัยที่สามารถรองรับการลุกไหม้ หรือการระเบิดของแบตเตอรี่จากการทดสอบได้อีกด้วย ซึ่งคาดว่าศูนย์ทดสอบฯ นี้ จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2563”
 
ด้านการพัฒนาบุคลากร สถาบันยานยนต์ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV Technology & Innovation Learning Center) เพื่อศึกษาและถ่ายทอดข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบระบายความร้อน วัสดุมวลเบาที่ใช้กับยานยนต์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวให้กับบุคลากรในวงการยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาผู้ประกอบการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วยระบบการบริหารการผลิตต่างๆ  เช่น Lean Production System, Loss Reduction Process และการนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต คือ โรบอทติกส์ (Robotics) และ ระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ

นายสุทธิศักดิ์  วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เผยถึงเทรนด์เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กว่า 90 % เป็นการผลิตชิ้นส่วนแบบเครื่องยนต์แบบสันดาป ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยานยนต์ไฮบริด และยานยนต์สมัยใหม่ตามลำดับ  โดยค่ายรถยนต์ต่างพร้อมจะปรับเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ไปตามเทรนด์นี้  ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย มีการปรับตัวทางด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตและดีมานด์ที่จะเกิดขึ้น จากข้อมูลนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนในไตรมาสแรก ( ม.ค. – เม.ย.) ในปี 2561 มูลค่ากว่า 174,000 ล้านบาท เปรียบเทียบในปี 2562 มูลค่า 182,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 5 %    โดย 3 ประเทศหลัก ที่มีมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรสูงสุด คือ ญี่ปุ่น, จีน และ เยอรมัน ตามลำดับ

“แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2019 ” มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนระดับอาเซียน กว่า 2,400  แบรนด์ จาก 46  ประเทศ เพื่อผู้ประกอบการก้าวสู่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่  การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ พบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ใน Tier ต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดองค์ความรู้ในสัมมนาต่างๆ

ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับ Smart Mobility  จึงกำหนดให้มีการจัดงาน “Automotive Summit 2019”ภายใต้แนวคิด “Smart Mobility Driving Tomorrow’s Society” งานสัมมนาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์และแนวโน้มการพัฒนา รวมถึงกฎระเบียบมาตรฐานและการทดสอบ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกล่าวปาถกฐาพิเศษเรื่อง “How next generation mobility will change the Thailand Automotive Industry?”

ซึ่งภายในงานสัมมนานี้ผู้ประกอบการยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงนักอุตสาหกรรมชั้นนำจากหลากหลายภูมิภาคจะมารวมตัวกันเพื่อรับทราบ แบ่งปันความรู้ ตลอดจนข้อมูลอุตสาหกรรม จากหน่วยงานด้านนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้บริหาร ผู้นำธุรกิจและผู้ผลิต โดยหัวข้อสำคัญในงานสัมมนา Automotive Summit 2019 นี้เน้นไปที่เทคโนโลยี ACES (Autonomous, Connected, Electric, Shared) และกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป อาเซียน นอกจากนี้ยังมีการอัปเดตเทคโนโลยีการทดสอบและมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ACES รวมทั้งความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม ทั้งหมดจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 19 – วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562 เวลา 09.30-16.00 น. ณ ห้อง แกรนด์ฮอลล์ 202 - 203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานครั้งนี้ บริษัท เอดีที ซิสเต็มส์ (เอเซียแปซิฟิก) จำกัด และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้งานนี้ ประสบผลสำเร็จด้วยดีมาตลอด ขอบคุณครับ” นายอดิศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้า ได้ที่ www.thaiauto.or.th