กฟผ.นับ 1 “โซลาร์ลอยน้ำ” รักษาแชร์ 2,700 เมกะวัตต์

อัปเดตล่าสุด 22 มี.ค. 2562
  • Share :

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมที่จะออกประกาศเชิญชวนเอกชน (TOR) เข้ามาลงทุนติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid (โซลาร์ลอยน้ำ) โครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวน 45 เมกะวัตต์(MW) ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยประเมินเบื้องต้นจะมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพผลิตทุ่นลอยน้ำประมาณ 3 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นคือ บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

“กฟผ.มีโครงการโซลาร์ลอยน้ำต่อเนื่องทั้งหมดรวม 2,725 MW โดยเฟส 2 จะเริ่มที่เขื่อนอุบลรัตน์ 24 MW โดยโครงการนี้จะเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์ double glass ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมเกรดในไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกในอนาคตสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้” นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) กำหนดให้ กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในส่วนของโซลาร์ลอยน้ำจำนวน 2,725 MW ตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยปีที่จะมีกำลังผลิตโซลาร์ลอยน้ำเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปี 2573 เขื่อนภูมิพลส่วนขยาย 300 MW ปี 2575 เขื่อนศรีนครินทร์ส่วนขยาย 2 จำนวน 300 MW ปี 2576 เขื่อนจุฬาภรณ์-บางลาง-ภูมิพลส่วนขยาย 2 จำนวน 438 MW และปี 2578 เขื่อนสิริกิติ์อีก 325 MW

มีรายงานข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เข้ามาว่า กฟผ.มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำเพื่อ “รักษา” กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของ กฟผ.ภายใต้แผน PDP 2018 ในปี 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผน กฟผ.จะมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 24 ขณะที่ VSPP จะมีร้อยละ 25 IPP ร้อยละ 13 ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ร้อยละ 11 และ SPPร้อยละ 11 จากปี 2560 ที่ กฟผ.มีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 35 โดยกำลังผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทโรงไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากจะมาจากโรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม 13,156 MW กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 10,000 MW เข้ามาแย่งส่วนแบ่งกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.ไป