BOI ฉีกทุกกฎแพ็กเกจพิเศษ ดึง 36 บริษัทดังโยกเข้าไทย

อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 698 Reads   

BOI ออกแพ็กเกจพิเศษรีโลเกชั่นตั้งทีมเฉพาะกิจบุก road show สภาพัฒน์ชี้เป้า บริษัทยักษ์ “Delta-Besser-Ricoh-Sony-Harley-Sharp-Western Digital” ขยายลงทุนไทย ปาดหน้าเวียดนาม ดึง 36 บริษัท จีนแห่ย้ายเข้าอีอีซีหลบสงครามการค้า

จากนโยบาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำงานเชิงรุกดึงดูดนักลงทุนที่จะย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน หรือสหรัฐ ให้เข้ามาลงทุนที่ประเทศไทย โดยต้องอยู่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) แต่อาจเป็นอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะออก “แพ็กเกจพิเศษ” ให้นักลงทุนรายประเทศ หวังรับนักลงทุนเกาหลีใต้ที่นำทีมเยือนไทย

แพ็กเกจใหม่รีโลเกชั่น

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จะดำเนินการ 3 เรื่อง คือ

1) ออกแพ็กเกจรีโลเกชั่นหรือมาตรการสำหรับดึงการลงทุนจากประเทศที่เลือกไทยเป็นเป้าหมาย โดยไม่ใช่เรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างเดียว แต่จะมีเครื่องมือจากหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มเติม

2) BOI จะตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อดึงนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย รวมถึงนักลงทุนที่จะไปลงทุนในประเทศอื่น ตอนนี้ได้จัดทำรายชื่อไว้ 100 บริษัท โดยทีมเฉพาะกิจจะมอบหมายให้รองเลขาฯ BOI รับผิดชอบ

3) การจัดกิจกรรมการตลาดด้วยการ road show ที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป โดยจะดึงภาคเอกชนและสถาบันการเงินเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุน และเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาตให้เร็วขึ้น

“ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาทในปีนี้ จะพยายามทำให้ได้ ที่จะหมดอายุคือ มาตรการ EEC กับ SMEs กำลังพิจารณาจะต่อมาตรการหรือปรับเงื่อนไขอยู่ ส่วนมาตรการปีแห่งการลงทุน (2562) จะไม่ต่ออายุอีก” น.ส.ดวงใจกล่าว

บูรณาการ 2 พ.ร.บ.ส่งเสริม

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มว่า เครื่องมือในการขอรับส่งเสริมการลงทุนปัจจุบันอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 2560 กับ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดย พ.ร.บ.ฉบับแรกจัดเป็นเครื่องมือสำคัญของ BOI แต่ติดข้อจำกัดที่สิทธิประโยชน์สูงสุดที่ BOI จะให้ได้อยู่ที่การ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

“ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดึงดูดนักลงทุนในปัจจุบัน” 

ส่วน พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 แม้จะให้สิทธิประโยชน์สูงสุดด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี และมีเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายลงทุนด้านนวัตกรรม-การวิจัยและพัฒนา ตลอดการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านในรูปกองทุนขนาด 10,000 ล้านบาท เพื่อดึงดูดนักลงทุนนั้น ก็ถูกจำกัดไว้เฉพาะกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve เท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯ ยังไม่ปรากฏว่า มีนักลงทุนรายใดได้สิทธิประโยชน์และเงินกองทุนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

“บีโอไออ้างว่า มีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถ แต่ 2 ปีที่ผ่านมายังไม่มีรายใดได้รับอนุมัติ ด้าน พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดก็ได้แค่ 8 ปี (กลุ่ม A1 A2 activity-based) หรือ 8 ปี+ลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 อีก 5 ปีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เข้าใจว่า รัฐบาลกำลังมองว่า ทำอย่างไรจะบูรณาการสิทธิประโยชน์จาก 2 พ.ร.บ.เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่กำลังตีจากไทย หรือนักลงทุนทั้งใหม่และเก่าที่กำลังจะย้ายฐานไปยังที่อื่น หรือกลับประเทศตัวเอง”

รวมถึงการเพิ่มประเภทกิจการใหม่ ๆ เพื่อรองรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมนอกเหนือ S-curve อาทิ บริการ-ดิจิทัล-เครือข่ายออนไลน์-ค้าปลีกสมัยใหม่ ที่กำลังพิจารณาย้ายฐานมายังประเทศไทยด้วย

ชี้เป้าดึงนักลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (ประจำนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กล่าวว่า หลังเทรดวอร์ ทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำรวจพบมีกลุ่มนักลงทุนทั้งจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐ เตรียมย้ายฐานออกจากจีน ในจำนวนนี้มี 10 รายที่ตัดสินใจจะลงทุนในไทยแน่นอนแล้ว ส่วนอีก 36 รายอยู่ระหว่างการตัดสินใจ จะย้ายจากจีนไปลงทุนที่ประเทศใดในอาเซียน ระหว่างเวียดนาม-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ ดังนั้น บีโอไอต้องกำหนดมาตรการดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้ให้ได้ (หรือแพ็กเกจรีโลเกชั่น)

“ประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ได้หารือ BOI ให้รวมรายชื่อบริษัทต่าง ๆ และแพ็กเกจรีโลเกชั่น โดยต้องเพิ่มประเภทกิจการขยายไปยังธุรกิจที่ไม่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งจะสรุปให้ครม. เศรษฐกิจในครั้งต่อไป เราอยากให้ใช้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ให้เข้ามาเป็นหนึ่งในการใช้ดึงดูดนักลงทุนด้วย”

ลุ้น 36 บริษัทย้ายมาไทย 

สำหรับ 10 บริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยนั้น ได้แก่ บริษัท Delta สัญชาติไต้หวัน ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผนขยายลงทุนในสมุทรปราการ, บริษัท Merry Electronics สัญชาติไต้หวัน ผลิตหูฟัง แผนลงทุนในชลบุรี, บริษัท Besser สัญชาติจีน มีแผนลงทุนในฉะเชิงเทรา, บริษัท Ricoh สัญชาติญี่ปุ่น ยังไม่ระบุพื้นที่, บริษัท Xilinmen สัญชาติจีน ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ยังไม่ระบุพื้นที่, บริษัท BFGoodrich สัญชาติอเมริกัน ผลิตยางรถยนต์ แผนลงทุนชลบุรี, บริษัท Sony สัญชาติญี่ปุ่น ผลิตสมาร์ทโฟน ยังไม่ระบุพื้นที่, บริษัท Western Digital สัญชาติอเมริกัน ผลิตฮาร์ดดิสก์ มีแผนลงทุนอยุธยา ปทุมธานี ปราจีนบุรี, บริษัท Harley สัญชาติอเมริกัน รถจักรยานยนต์ ยังไม่ระบุพื้นที่, บริษัท Sharp สัญชาติญี่ปุ่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ระบุพื้นที่

อีก 36 บริษัท อยู่ระหว่างตัดสินใจและเป็นเป้าหมายจะใช้ BOI ดึงมาลงทุนในไทย ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย, อิเล็กทรอนิกส์, คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์, เสื้อผ้า, อุปกรณ์การแพทย์, นาฬิกา, ยาง, กระเป๋าเดินทาง, เฟอร์นิเจอร์, เครือข่ายออนไลน์ และค้าปลีก เป็นบริษัทอเมริกัน 13 ราย เช่น HP, Microsoft, Apple, Google, Amazon, Micron Technology, Echo, Fossil Group, Dell, Jason, Brooks Running

บริษัทไต้หวัน 10 ราย Foxconn, Pegatron, Inventec, Acer, Asustek, Quanta Computer, Home Fashion Co, Accton Technology, Compal Electronics และ Kenda Rubbler Industrial บริษัทญี่ปุ่น 7 ราย Casio, Kyocera, Panasonic, Seiko Watch, Nintendo, Mitsubishi Electrics, Sharp บริษัทจีน 2 ราย Haier กับ Jason Furniture (Hangzhou) บริษัทเกาหลีใต้ 3 ราย คือ Samsung, SK Hynix และ I.M. Healthcare และบริษัทแคนาดา 1 ราย คือ Sierra Wireless

“ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งมุ่งเป้าจะขยายการลงทุนในเวียดนาม ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า ECHO รองเท้า Brooks ถุงเท้าเจสันจากสหรัฐ เคียวเซร่าจากญี่ปุ่น ส่วน Dell จะไปฟิลิปปินส์ Pegathron จะไปอินโดนีเซีย บางรายจะย้ายกลับประเทศ ส่วนไมโครซอฟท์กำลังเลือกระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย อีกหลาย ๆ รายไม่ล็อกเป้าหมายว่าจะไปประเทศใด BOI จึงต้องพยายามดึงบริษัทเหล่านี้มายังประเทศไทยให้ได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

จีนแห่ย้ายฐานมาอีอีซีคึกคัก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า สงครามทางการค้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะจีนเข้ามาเจรจาหลายราย จากเดิมเป็นนักลงทุนไต้หวันและญี่ปุ่น ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนจีนเพิ่ม 30% ประกอบรัฐบาลส่งเสริมโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทำให้ดีกับยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งไว้ 1,400 ไร่ จากปีก่อนอยู่ที่ 900 ไร่

ล่าสุดลงนามสัญญา 2 ฉบับกับบริษัท โกลเดน อีเกร็ต ซีเมนต์ คาร์ไบด์ (ไทยแลนด์) ในเครือบริษัท เซียะเหมิน โกลเดนอีเกร็ต สเปเชียล อัลลอย ถือเป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจเจ้าแรกที่มาจากจีน มีสัญญาซื้อขายที่ดิน 56 ไร่ และสัญญาเช่าโรงงานสำเร็จรูป 4,700 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 โดย GESAC จะใช้โรงงานสำเร็จรูปนี้เพื่อเริ่มกระบวนการผลิตในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน จะใช้งบฯ 2,500 ล้านบาท (81.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า

“เชื่อว่าจีดีพีไทยจะโตขึ้นในครึ่งปีหลังจนถึงปีหน้า สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ยังคงต้องรอให้มีการจัดตั้งบีโอไอชุดใหม่ก่อน เพื่อจะได้พิจารณาให้นโยบายสอดคล้อง”

นายเจียง เทา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเดน อีเกร็ต ซีเมนต์ คาร์ไบด์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ความพร้อมของดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเลือกเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าในไทย เพราะโรงงานนี้ตั้งอยู่ใจกลางอีอีซี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนไทยในขณะนี้ด้วย