095-BOI-เจโทร-ส่งเสริมการลงทุน-รถยนต์ไฟฟ้า

บีโอไอทบทวนปลุกลงทุนอีวี “เจโทร”ชี้ค่ายรถญี่ปุ่นมาแน่

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 2562
  • Share :

บีโอไอยอมถอยปรับมาตรการส่งเสริม “รถยนต์ไฟฟ้า” หลังยุโรป-ญี่ปุ่นเบรกลงทุนยาว หนุนทุกกิจการเกี่ยวกับไฟฟ้าตั้งแต่ 2 ล้อไปยันเรือ เชื่อปี’63 เห็นเม็ดเงินลงทุน คลังแนะอยากแจ้งเกิดอุดหนุนคันละ 5 แสนบาท ฟากเอกชนโอดสู้รถอีวีจีนไม่ไหว เจโทรฯยันญี่ปุ่นรอเวลาพร้อมลงทุน

ตามที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับที่ 18 พ.ย. 2562 นำเสนอข่าว “รถยนต์ไฟฟ้าสตาร์ตไม่ติด ยุโรป-ญี่ปุ่นเบรกลงทุนยาว” เนื้อความระบุว่า แผนปั้นประเทศไทยฮับรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลบิ๊กตู่สะดุด ค่ายรถทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเบรกลงทุน “เบนซ์” ล้มแผนทำตลาด EQC รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทยแบบไม่มีกำหนด ย้ำรัฐบาลส่งเสริมไม่ถูกจุด ระบุทุ่มลงทุน รง.แบตเตอรี่แค่รองรับกลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด หลายค่ายขู่ย้ายฐานไปจีน

บีโอไอพร้อมปรับเงื่อนไขส่งเสริม

ประเด็นนี้แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวยอมรับว่า แผนส่งเสริมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งน่าจะมีการทบทวน โดยจะมีมาตรการใหม่ออกมาเพื่อส่งเสริมยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทุกประเภท ตั้งแต่รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถโดยสาร จนไปถึงเรือ โดยน่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ภายในต้นปี 2563

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมบอร์ดซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานครั้งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นที่ดำเนินการไปแล้ว คือปลดล็อกเกี่ยวกับสถานีชาร์จ จากเดิมที่เป็นเพียงสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และระยะเวลาส่งเสริมสิ้นสุดไปเมื่อปี 2561 ได้เปลี่ยนเป็นสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับยานพาหนะไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
 

ย้ำปี”63 เห็นเม็ดเงินลงทุนจริง

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หลังจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2561 ทางบีโอไอได้มีการอนุมัติให้การส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย และในจำนวนนี้มี FOMM ได้ลงทุนผลิตแล้ว ส่วนจะเปิดขยายการส่งเสริมใหม่เพิ่มหรือให้รายที่เหลือการลงทุนหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการหารือ โดยคาดว่าต้นปี 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) จะมีการพิจารณามาตรการส่งเสริมสำหรับยานยนต์ประเภทอื่นเพิ่มเติมจากเดิมที่มาตรการนี้ครอบคลุมเพียงรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นโยบายส่งเสริม EV จะต้องผสมผสานมาตรการที่มาจากหลายหน่วยงานไม่ใช่เฉพาะแค่บีโอไอ แต่หากมีมาตรการจากกรมสรรพสามิต กรมศุลกากรที่สามารถนำเข้ารถใหม่ (CBU) มาร่วมด้วย ก็จะช่วยกระตุ้นการลงทุนด้าน EV ให้ครบทุกด้าน

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง บีโอไอ สถาบันยานยนต์ ได้ร่วมกันออกมาตรการ 6 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมซัพพลายทำให้มีเมกเกอร์ได้รับอนุมัติลงทุนไปแล้ว 9 ราย มูลค่า 50,000 คัน 2.ส่งเสริมดีมานด์ที่คาดการณ์ว่ายอดการใช้สิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ 30,000 คัน 3.สนับสนุนสถานีชาร์จปัจจุบันมี 400 จุด 4.การจัดทำมาตรฐาน 11 รายการ เช่น มาตรฐานเต้ารับเต้าเสียบ ประจุ ความปลอดภัย สมรรถนะ 5.การจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และ 6.การพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการยานยนต์สมัยใหม่แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน โดยจะประกอบไปด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม พลังงาน ดิจิทัล คลัง พาณิชย์ เป็นตัวช่วยเร่งขับเคลื่อน ดังนั้นปี 2563 สิ่งที่จะเห็นในอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นการลงทุนจริงจากค่ายรถบางราย

ค่ายรถห่วงรถอีวีจีน

ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นที่ค่ายรถยนต์ไม่พร้อมลงทุนในโครงการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ได้รับคำตอบจากค่ายรถยนต์คล้าย ๆ กันทุกค่าย คือความไม่ชัดเจนของภาครัฐ และที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่เปิดช่องให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาจำหน่าย โดยไม่มีกำแพงภาษีหรือเก็บในอัตรา 0% เพราะในแง่การทำตลาดถือว่าโปรเจ็กต์นี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ส่วนถ้าอนาคตรัฐบาลจะมีมาตรการใด ๆ เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ หลักดำเนินการคงต้องส่งเรื่องให้บริษัทร่วมพิจารณาตัดสินใจ

เอ็มจีปลื้มรถอีวีวิ่งฉิว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กระแสตอบรับการใช้รถอีวีตอนนี้ถือว่าไปได้ ส่วน MG ZS EV รถยนต์ไฟฟ้า 100% ของเอ็มจีสร้างสถิติยอดจองสะสมพุ่งได้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ทะลุ 2,200 คัน มีการส่งมอบถึงมือลูกค้าแล้ว 1,000 คัน เอ็มจียังได้เร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างความพร้อมของระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้สมบูรณ์แบบด้วยการเร่งขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

แนะแจ้งเกิดอีวีรัฐต้องอุดหนุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หากจะให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ลงอีก คงเป็นไปได้ยากแล้ว เนื่องจากอัตรา 2% ที่กำหนดในปัจจุบันถือว่าต่ำมากแล้ว โดยปัญหาที่มีการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ภาคเอกชนยังไม่ลงทุนนั้น เนื่องจากว่าปัจจุบันราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าสูงมาก คันละ 1.2-1.9 ล้านบาท หากจะผลักดันให้เกิดการลงทุนจริง รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณอุดหนุน 500,000 บาทต่อคัน

“วันนี้ราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงมาก อย่างเช่นจีน รัฐบาลก็อุดหนุนด้วย นี่ยังไม่รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พวกสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก จริง ๆ แล้วในต่างประเทศยังไม่เกิดเหมือนกัน ญี่ปุ่นลงทุนมาเป็น 10 ปี มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แค่ล้านกว่าคัน จีนทำมา 3 ปี ตอนนี้มีอยู่กว่า 2 ล้านคัน ถือว่ายังไม่เกิด พอหยุดอุดหนุนยอดขายที่เคยทำได้ปีละ 6-7 แสนคันหายเลย ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าควรจะสนับสนุนในส่วนที่เป็นรถยนต์สาธารณะ หรือขนส่งมวลชนมากกว่า แต่จะให้มาแทนรถส่วนบุคคลไม่ง่าย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการเปิดให้ค่ายรถยนต์อนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาทดลองทำตลาดในไทยได้ แต่ก็ไม่มีคนซื้อ เนื่องจากราคารถยังสูง เมื่อเทียบกับราคารถยนต์ทั่วไป

เจโทรหนุนไทยปั้นอุตฯอีวี

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวระหว่างแถลง “ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนารถ EVs ในประเทศไทย” ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการสร้างมาตรฐานที่รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมรถอีวีเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยไทยต้องยกระดับสู่ “มาตรฐานสากลระดับอาเซียน” ในฐานะประเทศที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก

โดยได้ย้ำว่า การผลิตรถยนต์ในไทยราว 2 ล้านคัน/ปี ยอดการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ในไทยประมาณเกือบ 90% มาจากผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ดังนั้นในยุคของยานยนต์อนาคต ญี่ปุ่นยังคงคาดหวังที่จะครองตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในไทยและทั่วโลก ซึ่งทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญและต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ตั้งแต่การลงทุนจนไปถึงกฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และที่สำคัญญี่ปุ่นใส่ใจกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สอดรับกับการผลิตยานยนต์อนาคตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประธานเจโทรฯย้ำว่า มาตรการหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ต้องการดึงดูดภาคการลงทุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการเพิ่มดีมานด์ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลไทย ว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องลดภาษีให้ต่ำเท่าไหร่ หรือต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นดีมานด์การซื้อรถอีวีเท่าไหร่ ตนเองไม่สามารถบอกได้ เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างและระบบไม่เหมือนกัน

ญี่ปุ่นย้ำลงทุนอีวีต้องใช้เวลา

นอกจากนี้นายทาเคทานิกล่าวว่า มาตรการที่ไทยจูงใจให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้ถือว่ามีความชัดเจนพอสมควร ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักลงทุนใหญ่ที่สุดของไทยก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อมาตรการดึงดูดการลงทุนนี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีการผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมค่อนข้างเยอะ และพวกเขาต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนมาสู่ยานยนต์อนาคตในไทย แต่ถ้าดูจากนโยบายของแต่ละแบรนด์ เช่น โตโยต้า ฮอนด้า และมิตซูบิชิ ต่างก็กำลังปรับเปลี่ยนโมเดลมาสู่การผลิตรถยนต์อนาคตในไทย นอกจากนี้ FOMM แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไทย ก็ตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ประธานเจโทรฯกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไทย” ยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการผลิตและส่งออกด้านยานยนต์ นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ได้โฟกัสแค่ “ดีมานด์ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ในไทยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่มองระยะยาวสำหรับการผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่นในอาเซียน หรือทั่วเอเชียไปสู่ทั่วโลก

ส่วนความกังวลเรื่อง “FTA ไทย-จีน” ที่ปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปจากจีนเหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2018 มองว่าเป็นเรื่องของความร่วมมือและข้อตกลงของรัฐบาลไทย และไม่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากนัก