"สมาร์ท โลจิสติกส์ (Smart Logistics)" เสริมศักยภาพซัพพลายเชน

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 1,245 Reads   

ความมั่นคงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่งผลให้เกิดความกังวลถึงความมั่นคงของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจึงเล็งยกระดับซัพพลายเชนในองค์รวม ทั้งการผลิต การขนส่ง และการบริโภค  โดยยกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Strategic Innovation Promotion Program (SIP)“ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา Data Platform รวบรวมข้อมูลในทุกขั้นตอน และป้ายแท็กต้นทุนต่ำ ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแต่ละชิ้นได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นให้สอดคล้องไปด้วยกัน

Mr. Yorimasa Tanaka เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการ IT จาก Yamato Holdings ผู้ให้บริการด้านการจัดส่งรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และผู้อำนวยการโครงการ SIP แสดงความเห็นว่า “ผมลังเลอยู่นานมากว่าจะรับตำแหน่งผู้อำนวยการหรือไม่ เนื่องจากการยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้น ในอีกนัยหนึ่ง หมายถึงการสูญเสียความสามารถการแข่งขันบางส่วนในฐานะผู้ให้บริการไป” โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการ SIP จะทำการรวมรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่เพื่อใช้ในการยกระดับซัพพลายเชน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เดิมทีเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ โดยเฉพาะในด้านต้นทุน

นอกจากนี้ โครงการ SIP ยังประสานความร่วมมือกับ SME เพื่อจัดทำขุมข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยกำลังผลิต คลังสินค้า กระบวนการจัดส่ง และข้อมูลหน้าร้าน ซึ่งขุมข้อมูลที่ได้ จะถูกรวมเป็นแพลตฟอร์มเดียว แล้วแจกให้กับผู้ร่วมโครงการทุกราย เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่า จะสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) ได้ 20% นอกจากนี้ หากกำหนดให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 40% ของน้ำหนักคันรถ และบรรทุกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้มากกว่า 20% อีกด้วย


พัฒนามาตรการ

โครงการณ์ SIP ยังมุ่งไปที่การพัฒนามาตรการในการรวบรวมข้อมูล เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน ให้สามารถคำนวนน้ำหนักสินค้า และจำนวนที่ควรบรรทุกได้จากการถ่ายภาพ ซึ่ง Mr. Tanaka ได้แสดงความเห็นว่า “เราอยากจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ทุกคนใช้งานได้ง่าย” และหากสามารถลดต้นทุนแท็ก RFID ให้เหลือเพียงชิ้นละ 1 เยนได้ ก็จะสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าทุกชิ้นได้ในทุกกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งหมดนี้มีปัญหาอยู่ 2 ข้อ คือ

  1. ด้านเทคโนโลยี เมื่อ Data Platform ถูกใช้งานแล้ว ระบบจะต้องทำงานตลอด 24 ชม.
  2. ความสอดคล้องในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละบริษัทจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะร่วมแบ่งปันข้อมูลกับธุรกิจรายอื่นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลหลายส่วนเป็นความลับทางการค้า อย่างไรก็ตามในข้อนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าแช่แข็ง มีท่าทีตอบสนองในเชิงบวก

Mr. Tanaka กล่าวย้ำว่า “อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทต่างมีข้อจำกัดของตัวเอง และการจะพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย”