อนาคตของ Sony และ Panasonic ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า
Sony และ Panasonic หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เผยนโยบายในอนาคตของบริษัทภายในงาน CES 2019 โดย Sony ได้ประกาศภายในงานว่า จะเน้นการทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ และเน้นสื่อบันเทิงขึ้นมาเป็นเสาหลัก ส่วน Panasonic จะเน้นไปที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ IT
Sony เล็ง ครีเอเตอร์คือผู้สร้างมูลค่า
Mr. Kenichiro Yoshida ประธานบริษัท Sony กล่าวย้ำว่า “Sony คือ “Creative entertainment company” ซึ่งเทคโนโลยีของเรานี้เอง ที่จะช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น” โดยภายในงาน Sony ได้เลือกที่จะเชิญตัวผู้รับผิดชอบด้านสื่อบันเทิง ทั้งภาพยนต์ ดนตรี และอนิเมชั่น รวมถึงดารานักแสดงชั้นนำขึ้นบนเวทีอย่างพร้อมเพรียง เพื่อตอกย้ำจุดยืนของบริษัทให้ชัดเจน
Mr. Pharrell Williams นักร้องชาวอเมริกันที่ได้ขึ้นไปบนเวทีของ Sony กล่าวแนะนำเทคโนโลยีของ Sony ว่า “เป็นเทคโนโลยีที่จะเชื่อมต่อครีเอเตอร์ และยูสเซอร์เข้าด้วยกัน” อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำเสนอบนเวทีนั้นมีไม่มากนัก และมีที่น่าสนใจเพียงเล็กน้อย เช่น โทรทัศน์ 8K เท่านั้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับงาน CES ในปีก่อนหน้า ซึ่ง Mr. Kazuo Hirai ประธานบริษัท Sony ได้ขึ้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์เซ็นเซอร์ยานยนต์ จอภาพ OLED และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากมายแล้ว จึงทำให้เวทีของ Sony ในปีนี้ดูมีทิศทางที่ต่างไปจากปกติมาก อีกทั้งบูธของ Sony ยังเน้นไปที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาพยนต์ ดนตรี และเกมเป็นหลักอีกด้วย ซึ่ง Mr. Ichiro Takagi กรรมการผู้จัดการของ Sony กล่าวชี้แจงว่า “เราต้องการจะรวมอิเล็กทรอนิกส์ และสื่อบันเทิงเข้าเป็นธุรกิจเดียวกัน”
โดย Mr. Ichiro Takagi ได้อธิบายต่อว่า ปัจจุบัน บริษัท IT รายใหญ่ ต่างผลักดันแนวคิด “Platformer” บริการด้านสื่อบันเทิงกันอย่างแพร่หลาย ทำให้การพัฒนาสินค้าไม่สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับบริษัทได้อย่างแต่ก่อน Sony จึงเล็งเห็นว่า หากรวมสินค้าที่มีอยู่ เข้ากับสื่อบันเทิงที่เป็นอีกจุดแข็งของบริษัทได้ จะช่วยให้บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
นอกจากจี้ Sony ยังเล็งเห็นว่า การผลักดันสื่อบันเทิง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถขายได้ดี และทำยอดได้มั่นคงมากขึ้นอีกด้วย
Mr. Ichiro Takagi กล่าวย้ำว่า “เทคโนโลยีของบริษัทเรา จะถูกนำมาใช้ในธุรกิจสื่อบันเทิง และงานบริการมากยิ่งขึ้น”
Panasonic มุ่ง “Connected Social”
ทางด้านของ Panasonic ซึ่งในปีก่อนได้เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์เป็นหลัก ก็มีทิศทางที่ต่างไปจากเดิมมากในปีนี้ ด้วยการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดย Mr. Yoshiyuki Miyabe กรรมการบริหารบริษัท Panasonic ได้กล่าวภายในงานว่า “ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายนี้ จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในยุค Connected Social ที่ทุกอย่างกลายเป็นดิจิตัล”
Mr. Kazuhiro Tsuga ประธานบริษัท Panasonic กล่าวว่า “การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จะกลายเป็นมาตรฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในอนาคต” พร้อมกล่าวเสริมภายในงานว่า “เรามีจุดยืนต่างจาก Samsung และ LG เนื่องจากเรามีการพัฒนาวัสดุ และอื่น ๆ นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย”
นอกจากนี้ Panasonic ยังมุ่งเดินหน้าส่งเสริมธุรกิจ B2B และการทำกำไรจากงานบริการ เช่นเดียวกับ Sony อีกด้วย
ส่วนทางด้าน LG นั้น มุ่งไปที่การพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีความ “Smart” ยิ่งขึ้น ส่วน Sharp เน้นไปที่จอภาพ 8K, AI, และ IoT ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่า แนวทางของบริษัทเหล่านี้ จะสามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้ตามต้องการหรือไม่
บทสัมภาษณ์ Mr. Ichiro Takagi กรรมการผู้จัดการ บริษัท Sony
การมุ่งเน้นสื่อบันเทิง แปลว่า Sony จะเลิกให้ความสำคัญกับอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่?
“เราจะไม่ทิ้งธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์แน่นอน และเราก็อยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้ให้นำมาใช้กับธุรกิจสื่อบันเทิงได้”
แล้วจะทำกำไรได้อย่างไร
“ด้วยการพัฒนาให้เทคโนโลยี สามารถนำไปต่อยอดได้”
อยากทราบความเห็นเกี่ยวกับ “360 Reality Audio”
“เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ที่เราพร้อมจะสนับสนุนด้วยคอนเทนท์จำนวนมาก ทั้งจากการพัฒนาเองโดยบริษัทเรา และจากครีเอเตอร์ภายนอก ซึ่งการที่เราจะทำกำไรจากสิ่งนี้ได้ เราก็ตำเป็นต้องส่งเสริมให้เทคโนโลยีนี้แพร่หลาย และขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของตลาดนี้เสียก่อน”
แต่ก็เปิดตัวโทรทัศน์ 8K เหมือนกัน
“เป็นเพราะโทรทัศน์ 8K สามารถสร้างประสบการณ์ทางด้านภาพที่สูงกว่าได้ อย่างไรก็ตาม เรายังพึ่งอยู่ในจุดเริ่มต้น และยังไม่ได้คิดไปถึงการพัฒนาทุกอย่างให้เป็น 8K”
บทสัมภาษณ์ Mr. Yoshiyuki Miyabe กรรมการบริหารบริษัท Panasonic
อยากทราบว่าจะเน้นเทคโนโลยีใดเป็นพิเศษหรือไม่
“เราจะเน้นไปที่แพล็ตฟอร์ม IoT เพื่อให้สินค้าเรามีศักยภาพได้ในยุค Connected Social”
มีแผนว่าจะร่วมมือกับผู้ผลิตแพล็ตฟอร์มรายอื่นหรือไม่
“ปัจจุบัน เรามีความพร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีฟังค์ชันคลาวด์ และมีสินค้าที่รองรับฟังค์ชันเหล่านี้เป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งแม้เราจะยังไม่มีแผ่นเปิดแพล็ตฟอร์มนี้ให้ผู้พัฒนารายอื่นเข้าถึง แต่เราก็คำนึงถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นอยู่”
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้งานร่วมกันได้อย่างไรบ้าง
“ยกตัวอย่างเช่นเครื่องปรับอากาศ ซึ่เราออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน แชร์ข้อมูลอุณหภูมิห้องได้ ซึ่งหากนำไปใช้ร่วมกับฟังค์ชันอื่น ก็จะใช้สร้างมูลค่าได้มากขึ้น”
ดูเหมือนจะต้องใช้ทรัพยากรณ์อีกมาก
“ครับ หากเราพัฒนาผลิตภัณฑ์แยกเป็นชิ้น ๆ ไป ก็ไม่อาจโตไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว เราจึงตั้งใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ แล้วนำเสนอในฐานะโซลูชัน แทนที่จะเป็นแค่เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเราก็วางแผนเพิ่มจำนวนพนักงานอยู่ในขณะนี้”