ชำแหละนโยบาย “กสทช.-ดีอี” ดัน “4.0-5G” รุ่งหรือร่วง
สัมภาษณ์
หลังจากขยับขึ้นทำหน้าที่ “ประธาน” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำให้ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ไม่ได้โฟกัสเฉพาะแวดวงโทรคมนาคมจนเป็น”ขาประจำ” คอยวิพากษ์ “กสทช.” และกระทรวงไอซีทีที่แปลงโฉมมาเป็น “ดีอี” (ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เหมือนเมื่อ 5-6 ปีก่อน แต่ครั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พาเจาะลึกเฉพาะแวดวงนี้อีกครั้ง
Q : ประเทศไทยจะรับมือดิสรัปต์ได้
เฉพาะธุรกิจที่ทัน ธุรกิจใหญ่ แบงก์ใหญ่หาทางออกของเขาไป ธุรกิจเล็กเหมือนคนตัวเล็ก ไม่มีทางไปต้องพึ่งบริการของรัฐ แต่รัฐก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะเอกชนไปดิจิทัลแต่ภาครัฐดึงกลับมาแอนะล็อกตลอดเวลา
Q : แต่ก็หนุนสตาร์ตอัพมาก
เจตนาดีอยากจะช่วยนะแต่ไม่ตรงจุด ถ้าไปคุยกับสตาร์ตอัพจะรู้ว่ารัฐเวลาส่งเสริมชอบตั้งกองทุน ซึ่งปัญหาสตาร์ตอัพไม่ได้อยู่ที่เงิน และรัฐเองก็ไม่ได้มีความสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีกว่านักลงทุนจริง ๆ ฉะนั้นวิธีช่วยของรัฐที่ดีและง่ายที่สุดคืออย่าทำตัวเกะกะ
Q : ดัน กม.ไซเบอร์ฯ-คุ้มครองข้อมูล
ควรจะทำตั้งนานแล้ว ไม่ใช่จะคิดมาทำตอนเวลารัฐบาลเหลือแค่นี้ มาเร่งแล้วจะหวังให้ออกมาดี ๆ มันยาก ยิ่งถ้าเข้า สนช.ไม่ทัน ยิ่งน่าเสียดาย เวลารัฐบาล 5 ปีไม่ใช่น้อย แต่เพราะงานไม่นิ่ง ความคิดไม่ตกผลึก พอจะดันก็จะมีคนค้าน เช่น ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถ้าทำในรัฐบาลนี้ไม่ทันขอให้ใช้เวลาที่มีหาความเห็นพ้องต้องกันในสังคม เพราะไม่มีใครเถียงว่าไม่ควรมี แต่จะทำได้ตามวัตถุประสงค์โดยไม่ละเมิดสิทธิ ต้องให้ตกผลึกเพื่อประโยชน์กับรัฐบาลต่อไป
Q : ดิจิทัลโตแต่เงินไหลไปเฟซบุ๊ก-กูเกิล
นี่แหละอาการของดิสรัปชั่น กำไรมูลค่าเพิ่มวิ่งไปเมืองนอก และจะมีอีกสารพัดสาขา ท่องเที่ยวก็เจอแล้ว มีแกร็บ Airbnb, Agoda มาดูดเงินไป มูลค่าที่เคยตกกับเศรษฐกิจไทยจะไม่ตก ถ้าไม่ปรับตัวก็ไปไม่รอด ต้องใช้ AI, big data มาวางกลยุทธ์ ต้องให้ภาคการศึกษาผลิตคนเข้ามาเสริม สร้างงานแบบใหม่ ๆ ที่หุ่นยนต์ AI มาทดแทนไม่ได้ รัฐต้องไม่ไปขวาง ถ้ามองครบก็ไปได้
Q : จะกำกับด้วยภาษี
ภาษีเป็นแค่เรื่องเดียว สุดท้ายธุรกิจก็ต้องเข้ามาจ่ายภาษีในสักแบบแหละ แต่อยู่ที่จังหวะเวลา แรงดึงดูด แรงผลักดันต้องสมดุลกัน เช่น ICO รัฐตั้งหน้าตั้งตาจะเก็บภาษีลูกเดียว ก็ไม่มีใครทำ ICO ในประเทศไทย ถ้าอยากจะได้นวัตกรรม ภาษีต้องรอไว้ก่อน
Q : ควบรวม TOT กับ CAT
หลายอย่างในประเทศนี้ คล้ายว่าทุก 5 ปีจะวนมาครั้งนึง โจทย์สำคัญคือ ถ้านำหน่วยงานที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันมาควบรวมกัน ทำไมคุณถึงคิดว่ามารวมกันจะทำกำไร มันไม่ใช่ตรรกะว่า มีทรัพย์สินมันซ้ำซ้อน เรื่องอย่างนี้ถ้ามีเวลาน้อยอย่าไปทำ มันจะใช้เวลาตีกันอยู่ตรงนั้น สุดท้ายก็แข่งไม่ได้ ปัญหาองค์กรยาก ๆ แก้ไม่ทันในหนึ่งรัฐบาล
Q : ทางออก
วิธีที่เด็ดขาดและง่ายกว่า แต่ทำยากในไทย คือขายวิสาหกิจที่ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนบอร์ด CEO ผู้บริหาร ที่พยายามรื้อให้มี efficiency ทำไปพักหนึ่งผู้บริหารก็เด้ง บอร์ดก็เปลี่ยน แล้วก็วนลูปใหม่
Q : ถ้าไม่ขายจะอยู่รอดไหม
ไม่ล้มละลายต่อหน้าในรัฐบาลนี้ แต่จะเป็นโจทย์ของรัฐบาลต่อไป และยิ่งกว่าด้วย เพราะรัฐวิสาหกิจไม่รู้ว่า เจ๊งแปลว่าอะไร ต้องมองว่า เมื่อไม่เห็นอนาคตว่าจะกำไรได้เมื่อใด และยังมีความจำเป็นเชิงสังคมอยู่ไหม ในวันที่มีโอเปอเรเตอร์ 3 ราย ไปทั่วประเทศอยู่แล้ว และยังมีกองทุนและกลไกอื่นตอบโจทย์กลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสเข้าถึง ทุกวันนี้ที่ยังกำไรก็มาจากสัมปทานใหม่ไม่ใช่จากการประกอบการจริง ๆ
รัฐควรต้องตัดใจขายเพื่อให้ประเทศเสียหายน้อยที่สุด แต่ก็เชื่อว่าทำได้ยากในทางการเมือง เพราะเรื่องง่ายกว่านี้อย่างการตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติก็ยังไม่ทำ
Q : 5G ปี 2563 จำเป็น
กสทช.จะทำให้เกิดได้ แต่ด้วยสเกลแบบไหน เช่นทดลองใน 1-2 จังหวัด แต่ควรเกิดตามความต้องการจริง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้เร่งด่วนแบบต้องมีในปีหรือ 2 ปีนี้ แต่ในอนาคตจะสำคัญมาก เพราะทำ IOT และอื่น ๆ ได้ คือให้กลไกตลาดตัดสิน แต่ว่าต้องเป็นกลไกตลาดที่มีการแข่งขันจึงจะตัดสินได้อย่างมีเหตุมีผล
ถ้านำจิ๊กซอว์มาต่อกัน ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเลยคือ มีโอเปอเรเตอร์รายใหม่ซึ่งอาจจะเข้ามาเทกโอเวอร์ ทีโอทีกับแคท แก้ปัญหารัฐวิสาหกิจของรัฐบาล เพิ่มโอเปอเรเตอร์รายใหม่เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมและทำให้เกิด 5G ได้ ก็ตอบโจทย์ปัญหาคือโครงสร้างเศรษฐกิจมีเจ้าพ่ออยู่ และเจ้าพ่อก็แผ่สยายปีกไปทำทุกเรื่อง และผูกพันใกล้ชิดกับรัฐบาลทุกรัฐบาล มันถึงปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ได้
Q : กสทช.รื้อเกณฑ์ประมูลคลื่นใหม่
ควรต้องรื้อใหม่ทุกครั้ง ไม่ใช่เอาราคาปิดเดิมไปเป็นราคาเริ่มต้นครั้งใหม่ ต้องดีไซน์ให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อรับประกันว่าตลาดจะแข่งขันแล้วเกณฑ์ก็ต้องมั่นคงแน่นอน ไม่เช่นนั้นใครใกล้ชิด กสทช. กับรัฐประมูลไปแล้วเงื่อนไขไม่ถูกใจก็ไปขอเปลี่ยนได้ ทำให้ทุนใหญ่กับการเมืองแยกกันไม่ออก ซึ่งจะหลุดจากวังวนนี้ต้องทำให้ผลประโยชน์น้อยลงโดยการเปิดเสรี ให้มีการแข่งขันมีตัวหารเยอะ ก็ไม่มีใครอยากไปวิ่งเต้นเพราะผลประโยชน์เหลือน้อย
Q : ดึงคลื่นทีวีดิจิทัลมาใช้โทรคม
เมื่อไปไม่รอดแล้วเอาคลื่นไปทำโทรคมนาคม 5G เพื่อให้มีมูลค่ามากขึ้น ก็เป็นทางออก แต่เค้กก้อนไหนไปกระจายให้ใครต้องมีคำอธิบาย ไม่ใช่จู่ ๆ ลอยมาว่าเงินประมูลงวดสุดท้ายไม่ต้องจ่าย ทำไมคิดอย่างนั้น อาจจะมีคำอธิบายเข้าท่าก็ได้