มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน

สมอ. ขานรับนโยบาย BCG ของรัฐบาล ประกาศใช้ “มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน”

อัปเดตล่าสุด 26 ธ.ค. 2562
  • Share :

สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 - นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) หรือมาตรฐานการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานเลขที่ 2-2562 เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งทางตรง และทางอ้อม ส่งผลให้ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดน้อยลง จนกระทั่งนำไปสู่การไม่มีของเสีย โดยมาตรฐานนี้ไม่ใช่มาตรฐานเพื่อการรับรอง เป็นมาตรฐานที่กำหนดเกี่ยวกับแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร ที่ สมอ. กำหนดขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานในประเทศไทยที่สนใจสามารถนำไปใช้ได้

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวของ สมอ. สอดคล้องตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาลด้านบีซีจี (BCG : Bio economy, Circular economy, Green economy) ที่มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในโลก ที่มีการกำหนดมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ สำหรับประเทศแรกที่ประกาศใช้มาตรฐานนี้คือ ประเทศอังกฤษ โดย สมอ. จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำมาตรฐานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กร และการดำเนินธุรกิจด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมาย

“มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงสถานที่ตั้ง และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยมีหลักการที่สำคัญคือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการผลิตของเสียให้น้อยที่สุด มาตรฐานนี้จึงสามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต และเป็นการสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว