“อมตะ” โรดโชว์จีบทุนฝรั่งเศส บุก “ตูลูส” ดึงบริษัทอุตฯ การบินเข้านิคม
“อมตะ” ประสานทูต-BOI เตรียมโรดโชว์นักลงทุนอุตสาหกรรมการบินฝรั่งเศส 6-7 ราย ชูจุดแข็งความพร้อมบริการหลังการขาย smart city พัฒนาพื้นที่ แง้มครึ่งปีหลังเตรียมซื้อที่ดินเกือบพันไร่ พัฒนารับอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดยอดขายปี 62 แตะ 950 ไร่ รับอานิสงส์จีนย้ายฐาน
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของฝรั่งเศส และยังเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินของโลก เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่และโรงงานแอร์บัส โรงงานผลิตเครื่องบินคองคอร์ด เพื่อเจรจากับนักลงทุนบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมการบิน 6-7 ราย โดยได้ประสานไปยังสถานทูตไทย ประจำกรุงปารีส ที่ฝรั่งเศส และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย (บีโอไอ) ณ กรุงปารีส เพื่อนัดหมายบริษัทกลุ่มเป้าหมาย
“การเดินทางไปเจรจาครั้งนี้ บีโอไอเขามีข้อมูลช่วย เราเอาคนที่เคยติดต่อกันอยู่แล้ว จะไม่ใช้วิธีการจัดกิจกรรมสัมมนา แต่ต้องใช้วิธีน็อกดอร์ One on One เพราะการเจรจาระดับนี้ เราต้องใช้เวลาในการหารือ เราจะนำเรื่องของจุดขายที่เรามี อย่างการบริการหลังการขาย นิคมอุตสาหกรรมเราทั้ง 2 แห่งทั้งที่ชลบุรีและระยอง อย่างที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ทำเลใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ปีนี้อมตะจะมุ่งไปที่ฝรั่งเศสก่อน จากที่ผ่านมาเน้นจีนและญี่ปุ่น ซึ่งจังหวะเวลาการเดินทางไปโรดโชว์ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเจรจาเพื่อปิดดีลกับนักลงทุนแต่ละรายไม่ง่าย บางรายอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน และมีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นการตัดสินใจของตัวนักลงทุนเอง เช่น สถานการณ์ภายในประเทศ อย่างการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้มีนักลงทุนตัดสินใจทิ้งไทยไปลงทุนเวียดนามแทน ดังนั้น การเจรจาแต่ละครั้งต้องมีทั้งข้อมูล การประเมินสถานการณ์ภายในประเทศที่ต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ให้ทั้งจากบีโอไอ และสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งของอมตะ ได้ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้รับการลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปีเพิ่ม
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า มั่นใจถึงความพร้อมอมตะว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้ เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมอากาศยาน (aerospace) มาลงทุนที่นิคมแล้วหลายรายแล้ว เริ่มสร้างโรงงานแล้ว เช่น บริษัท Turbine Aero ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทบำรุงรักษา ซ่อมแซม และแยกชิ้นส่วนเครื่องบินหรือ maintenance, repair and overhaul (MRO) auxiliary power units (APUs) เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการลงทุนรายใหม่ อีกทั้งยังมีความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) และการบริการหลังการขายเป็นจุดแข็ง
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 600-800 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้ายานยนต์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ยังสนใจลงทุนในไทย เนื่องจากมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) และยังได้อานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้นักลงทุนเลือกไทยมากขึ้น ปัจจุบันนักลงทุนจากญี่ปุ่นลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี สัดส่วน 62-63% จีน 2-3% และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง สัดส่วนจีนลงทุน 36% ญี่ปุ่นลงทุน 31-32%”
สำหรับความคืบหน้า smart city ในส่วนของโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น อยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ โดยให้เงินสนับสนุนเพื่อการออกแบบในครั้งนี้ จากนั้นจะนำแผนมาดำเนินการ เช่น พื้นที่ตรงนี้ควรที่จะทำเป็นที่นันทนาการ หรือที่อยู่อาศัย เราก็ทำให้เกิดโรงแรม อพาร์ตเมนต์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเห็น smart city เสร็จสมบูรณ์ด้านสิ่งปลูกสร้างที่จะใช้เวลา 18 เดือน
“ในปีนี้ อมตะตั้งเป้าหมายจะมียอดขายที่ดินในไทย 950 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 150 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง 500 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมไทยจีน 300 ไร่ คาดรายได้ที่รับรู้จากการขายที่ดินปีนี้ ประมาณ 2,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 70% ของรายได้ที่รับรู้ จากยอดขายครึ่งแรกของปีนี้ (ม.ค-มิ.ย. 2562) อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าไร่ ประกอบกับตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามอีก 125 ไร่ รวมเป้าหมายยอดขายทั้งกลุ่มอมตะปีนี้อยู่ที่ 1,057 ไร่ ซึ่งนอกจากพัฒนาที่ดินแล้ว ยังมีธุรกิจใหม่อย่างการจัดหาระบบสาธารณูปโภค การให้บริการ และอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในนิคม ด้วยการไปร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นรูปแบบสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว”
รายงานระบุว่า การขอรับการส่งเสริมในเดือน ม.ค.-มี.ค. 2562 จากบีโอไอ ของอุตสาหกรรมอากาศยาน 1 โครงการ เงินลงทุน 306 ล้านบาท จากที่ไม่มีการลงทุนเลยเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว