จีนล็อบบี้ตั้งโรงงานผลิตเหล็ก ตัดหน้า ‘สุริยะ’ เซ็นคำสั่งห้าม

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 1,381 Reads   

จับตาเหล็กจีนฉวยจังหวะย้ายฐานหนีสงครามการค้าสหรัฐ วิ่งขอตั้งโรงงานเหล็กลวดบังหน้าผลิตเหล็กเส้นในไทย เหตุเป็นช่วง “สุญญากาศ” ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมห้ามตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้น 5 ปี ต้องรอ “สุริยะ” รัฐมนตรีใหม่ลงนาม ผู้ผลิตเหล็กไทยหวั่นเตาหลอมบิลเลตใช้ผลิตได้ทั้งเหล็กลวด-เหล็กเส้น สมอ.ยันกระบวนการผลิต-ค่าเคมีต่างกัน สามารถตรวจสอบที่มาได้

หลังจากที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากร้อยละ 0-10% เป็นร้อยละ 25% สินค้าอะลูมิเนียมจากร้อยละ 0-6.5% เป็นร้อยละ 10% พร้อมกับการคาดการณ์ในวงการค้าเหล็กที่ว่า จะมีสินค้าเหล็กจากจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐ “ทะลัก” เข้ามาดัมพ์ราคาในตลาดอาเซียนรวมถึงประเทศไทย รวมไปถึงอาจจะเกิดปรากฏการณ์โรงงานผู้ผลิตเหล็กจากจีนย้ายฐานการผลิต-ขยายการลงทุนเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อใช้เป็นแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าเหล็กของสหรัฐในระยะยาว

ล่าสุด นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจีนพยายามจะขอ “ใบอนุญาต” ก่อสร้างโรงงานเหล็กลวด (รง.4 ) ขึ้นในไทยประมาณ 3 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 1 ล้านตัน/ปี โดยการขออนุญาตตั้งโรงงานเหล็กลวดในช่วงนี้ถือเป็นช่วง “สุญญากาศ” ที่ร่างประกาศเรื่องการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาด ทุกท้องที่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 5 ปี ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 “ยังไม่มีผลบังคับใช้” 

เพราะ นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ได้ลงนามประกาศก็พ้นจากตำแหน่งเสียก่อนทั้งนี้สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับข้างต้นก็คือ การห้ามตั้งขยายโรงหลอมเหล็กแท่งยาว (billet) เพื่อเหล็กเส้น ในขณะที่นักลงทุนจีนที่กำลังจะเข้ามาขอตั้งเป็นโรงงานเตาหลอม billet เพื่อผลิตเหล็กลวด โดยลักษณะของ billet เหล็กเส้นนั้นไม่ต่างจากเหล็กลวดเลย ทางเอกชนจึงได้แจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบแล้วตั้งแต่ต้น แต่ด้วยเหล็กลวดยังไม่เกิดปัญหา เพราะมีกำลังผลิตเหล็กลวด 2 ล้านตันนั้น ความต้องการใช้ก็ใกล้เคียงกัน ขณะที่เหล็กเส้นมีกำลังผลิตถึง 10 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้เพียง 2 ล้านตัน “เหล็กเส้นจึงล้นประเทศอยู่ในตอนนี้”

“ข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้เราไม่สามารถสกัดการตั้งโรงงานผลิตเหล็กลวดของจีนได้ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เตาหลอม billet มีความสามารถหลอมออกมาเป็นเหล็กลวดก็ได้ เหล็กเส้นก็ได้ ดังนั้นหากปล่อยให้ตั้งเตาหลอม billet เพื่อเหล็กลวดเกิดขึ้นได้ก็จะกระทบเหล็กเส้นอยู่ดี และยังเป็นการนำเตาหลอมจากโรงงานเก่าเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ผมรอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ มาเซ็นร่างประกาศเพื่อให้มาตรา 32 ออกมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะสกัดโรงงานเหล็กของจีนไม่อยู่” นายประวิทย์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากวงการเหล็กลวด กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตเหล็กจากจีนจะหันมาตั้งหรือขยายการลงทุนมายังประเทศไทยเพื่อผลิตเหล็กโดยใช้แหล่งกำเนิดสินค้า (COO) ส่งออกไปสหรัฐ พร้อมกับขยายตลาดในไทยไปพร้อม ๆ กัน ล่าสุดบริษัทจีนชนะประมูลก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่สำคัญ ๆ หลายโครงการของรัฐบาล เช่น เส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-หนองคาย ทางด่วนพระราม 3

“มีความเป็นไปได้ว่า หากขออนุญาตตั้งโรงงานเหล็กไม่ได้เพราะติดประกาศที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ นักลงทุนจีนก็อาจจะใช้วิธีซื้อกิจการโรงเหล็กไทยเพื่อสวมใบ รง.4 ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนไม่ต้องขออนุญาต รง.4 ใหม่ ส่วนกรณีที่จะใช้เครื่องจักรในการผลิตเหล็กลวดมาแปลงผลิตเป็นเหล็กเส้นก็สามารถทำได้โดยเฉพาะขนาดเล็กประมาณ 6 หรือ 9 มิลลิเมตร” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ร่างประกาศเรื่องการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต “ยังไม่ได้ประกาศใช้” ต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่มาพิจารณา อาจจะมีการปรับแก้รายละเอียดบ้างเล็กน้อย หรืออาจเป็นไปได้ว่าจะควบคุมเหล็กลวดไปพร้อมกันด้วย

“ตอนนี้การที่นักลงทุนจีนมาขอตั้งโรงงานเหล็กที่ จ.ปราจีนบุรี สามารถทำได้ ส่วนสิ่งที่เอกชนกังวลโรงงานผลิตเหล็กลวดจะผลิตเหล็กเส้นออกมาขายในตลาดนั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะค่าเคมีและกระบวนการผลิตต่อให้เหมือนกัน แต่วิธีการนำไปใช้ต่างกัน สมอ.สามารถตรวจสอบได้ว่า หากมีเหล็กเส้นจากรายนี้วางขายในตลาดก็ตรวจสอบย้อนกลับไปที่ต้นทาง และสามารถเอาผิดทางกฎหมายกับโรงงานได้ทันที” นายวันชัยกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ยังไม่เห็นการยื่นขอใบ รง.4 ตั้งโรงงานผลิตเหล็กลวด แต่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีโรงงานเหล็กยื่นขอตั้งโรงงานมาบ้างแล้วประมาณ 5 ราย “แม้ว่าประกาศห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้นจะมีผลบังคับใช้ แต่ก็เป็นการคุมไว้แค่ 5 ปีเท่านั้น เอกชนที่จะตั้งโรงงานเหล็กก็สามารถรอได้ มันจึงเป็นการคุมกำเนิดที่ไม่ถาวร และหากจะควบคุมการตั้งโรงงานเหล็กลวดด้วยจะขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมและการศึกษาข้อมูลผลกระทบในส่วนของเหล็กลวดก่อน”

รายงานข่าวระบุว่า โรงงานเหล็กขนาดกลางที่ จ.ปราจีนบุรีในปัจจุบันมี 1 แห่งเป็นของบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ผลิตเหล็กแท่งบิลเลต มีการใช้กำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตัน/ปี จากความสามารถในการผลิตได้ 700,000 ตัน/ปี ทั้งนี้กระแสข่าวการลงทุนของจีนแพร่สะพัดเข้ามาอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนโดยผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เตาอินดักชั่น ซึ่งจะผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีราคาถูก ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2562 ได้มีบริษัท Hebsteel HBIS Global Holding Pte.Ltd. (HBIS) ผู้ผลิตเหล็กเบอร์ 2 ของจีนได้เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ทาทาสตีล จำกัด (มหาชน) ด้วย