กสอ. ดันผู้ประกอบการอุตฯ โลหะการ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมปรับกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มสูบ

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 615 Reads   
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโลหะการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อปรับกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเชิญเที่ยวงาน งาน Metalex 2019 มหกรรมเครื่องจักรกลโลหะการที่ทันสมัยที่สุด 20 – 23 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
 
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ "Value-Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีให้เป็น Smart SMEs ที่มีศักยภาพสูง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ทักษะ และแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร รวมถึงสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ ในการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Global SMEs ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพและทักษะในการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทย
 
ขณะที่อุตสาหกรรมโลหะการ ถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการตั้งแต่การผลิตวัสดุและการแปรรูปสู่ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อุตสาหกรรมโลหะการจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การพัฒนาวัสดุผสม (Composite Material) หรือการพัฒนาวัสดุให้ทนทาน ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Material) ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้น ในขณะเดียวกัน กสอ. ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมสนับสนุนซึ่งหมายรวมถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตและส่งสินค้า วัตถุดิบหรือบริการให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 หรือ ITC 4.0) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรกลาง การออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมงานวิจัย การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบงานคุณภาพที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO 9001, ISO 14001, IATF 16949 ผ่านกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านมาตรฐาน ณ สถานประกอบการ ตลอดจนการตรวจสอบก่อน (Pre-audit) ซึ่งเมื่อเอสเอ็มอีได้รับรองมาตรฐานแล้วก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการควบคุมคุณภาพ การลดของเสีย และเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและสากล
 
นอกจากกิจกรรมส่งเสริมงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานโลหะการแล้ว ปัจจุบันยังมีอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาตลาดเพิ่มเติม อาทิ ผู้ประกอบการโลหะการที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อาจเริ่มมองแนวทางการพัฒนาสู่การผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่ง กสอ. มีโครงการ/กิจกรรมในการส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมมาตรฐาน และการพัฒนาเครือข่ายสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ดังกล่าวเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมจนประสบความสำเร็จเป็น Success Case ในด้านต่าง ๆ เช่น 
 
- โครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (The Model Project for An Environmentally Conscious High-Efficiency Arc Furnace) ซึ่ง กสอ. ได้ร่วมกับ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการ โดยต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กของประเทศไทยตั้งอยู่ที่ บริษัท ยู เอ็ม ซี เม็ททอล จำกัด จังหวัดชลบุรี โดยเป็นเทคโนโลยีเตาอาร์คไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ECOARC) มีกำลังผลิต 70 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2555 และเริ่มดำเนินการผลิตในเดือน เมษายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ซึ่งผลการดำเนินงานสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับเตาอาร์คไฟฟ้า (EAF) แบบเดิม
     
- กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ โดย บริษัท สยามฟอร์จิง จำกัด ดำเนินกิจการด้านการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมด้วยกระบวนการทุบขึ้นรูปร้อน (Hot forging) โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายรวมถึงการรับผลิตตามออเดอร์ มีสินค้า อาทิ อะไหล่ยานยนต์ ได้นำเทคโนโลยีการตรวจนับแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้แทนคน ทำให้ช่วยลดเวลาในการทำงาน รวมถึงมีข้อผิดพลาดน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพในไลน์การผลิตได้ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับก่อนการปรับปรุง สร้างความเชื่อมั่นและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากขึ้น
     
- โครงการพัฒนาสถานประกอบการอุตสาหกรรม ด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดย บริษัท ซี.ซี. ออโตพาร์ท จำกัด ซึ่งผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ ที่หันมาใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผลิต โดยเฉพาะงานเชื่อมโลหะ ทำให้พนักงานไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากแสงและการผลิตที่ผิดพลาด ลดความเสียหายได้ถึงร้อยละ 90 อีกทั้งยังเกิดความเชื่อมั่นจากลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ การลงทุนโรบอท 1 ตัวสามารถชดเชยแรงงานได้ถึง 7 คน ใน 1 วัน ถือเป็นอัตราที่คุ้มค่าสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และการลงทุนโรบอท 1 ตัว สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในระยะเวลา 1 ปี เท่านั้น
 
“จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมโลหะการมีความหลากหลายอย่างมาก ซึ่งในต่างประเทศมีโรดแมปในสาขางานวิจัยและการพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยเองยังมีโอกาสและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเด็นเรื่องที่พัฒนาดังกล่าว เป็นการเพิ่มมูลค่าที่สำคัญ หรือสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย หรือปรับให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของประเทศอื่น ๆ ซึ่งใน งาน METALEX 2019 ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลโลหะการที่ทันสมัยมารวมไว้ที่นี่ เชื่อว่าจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมโลหะการในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ก้าวเข้าสู่ 4.0 อย่างเต็มตัว” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย