"โตโยต้า"ขึ้นไลน์ผลิตแบตเตอรี่ ลุยอีโคคาร์ไฮบริดต่อยอดรถอีวี

อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 2562
  • Share :

ค่ายโตโยต้าลั่นอีก 4 เดือน พร้อมใช้โรงงานเกตเวย์ขึ้นไลน์ผลิตแบตเตอรี่ ลุย "อีโคคาร์ไฮบริด" เผยเล็งลงทุนทั้งสองโรงงานเพื่อรับสิทธิ์ "อีอีซี" ยันภายใน 3 ปี เดินเครื่องผลิตรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ต่อยอดไปรถอีวีตามกรอบบีโอไอ คาดปีนี้ยอดขายอยู่ที่ระดับ 1 ล้านคัน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจาก บริษัทได้ตัดสินใจเข้ายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอภายใต้แพ็กเกจโครงการรถยนต์ไฮบริด เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาและ ล่าสุดเพิ่งยื่นขอส่งเสริมโครงการรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์อีวี เมื่อปี 2561 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขึ้นโรงงานแบตเตอรี่

ดังนั้นภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้โตโยต้าจะมีความชัดเจน ในส่วนของโรงงานแบตเตอรี่ที่ร่วมกับซัพพลายเออร์ในเครือ และจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ 
หลังจากนั้นในครึ่งปีหลังจะเริ่มดำเนินการภายใต้โครงการ 3R ที่โรงงานโตโยต้า เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ในเบื้องต้นจะเริ่มจากการ  rebuild และ reuse ก่อนในปีนี้ และปีหน้าจะเริ่มกระบวนการ recycle ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ช่วงต้นจะเป็นการนำชิ้นส่วนหลักเข้ามาประกอบ จากนั้นบริษัทจะพยายามเพิ่มความเข้มข้น ของโรงงานผลิตในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงสุด

ลุยอีโคคาร์ไฮบริด

ด้านแหล่งข่าวระดับบริหารจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของรถยนต์ขนาดเล็ก หรืออีโคคาร์ว่า น่าจะมุ่งไปสู่ รถยนต์อีโคคาร์ ไฮบริด ซึ่งต้องเป็นระบบฟูลไฮบริด ไม่ใช่ ไมลด์ไฮบริด จากนั้นจึงจะค่อยพัฒนาไปสู่รถยนต์อีโคคาร์ อีวี
โดยสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นทิศทางดังกล่าว โตโยต้าจะเดินไปตามสเต็ปเดิมคือยอดขายรถยนต์ไฮบริดในปีที่ผ่านมามียอดขายทั้งสิ้น 14,999 คัน หรือเกือบ 15,000 คัน โตโยต้ามียอดขาย 13,200 คัน หรือกว่า 88% ของยอดขายรถไฮบริดในปีที่ผ่านมา  ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ไฮบริดนั้นได้รับความนิยม และจากนี้ไปต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและราคาจำหน่ายของแบตเตอรี่ไฮบริด

เดินตามกรอบบีโอไอ

นายฉัตรชัย ทวีวัชระสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรอบระยะเวลาของการยื่นขอส่งเสริมบีโอไอในส่วนของ รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถอีวี ว่า โตโยต้าได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน และตามกรอบระยะเวลาของรัฐบาลนั้นได้กำหนดว่า หลังได้รับการอนุมัติ ค่ายรถยนต์จะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ออกสู่ตลาดภายใน 3 ปี หลังจากได้รับบัตรส่งเสริม

ส่วนรายละเอียดของการลงทุนและเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนนั้น บริษัท ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่แน่นอนว่าเป็นวงเงินขั้นต้นที่รัฐบาลกำหนดไว้ ส่วนแพ็กเสริมที่รัฐบาลได้โปรโมทเขตอุตสาหกรรมพิเศษหรืออีอีซีนั้น โตโยต้ายินดีที่จะสนับสนุนโครงการของรัฐบาล และบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะผลิตรถยนต์โมเดลใด และแพ็กเกจที่จะเหมาะสม ว่าท้ายที่สุดจะเหมาะกับรถยนต์ประเภทใด บีอีวี หรืออีวี และจะต้องมีการลงทุนเท่าใด

สำหรับโตโยต้าได้รับสิทธิประโยชน์ของอีอีซีทั้ง 2 โรงงาน คือโรงงานเกตเวย์และบ้านโพธิ์ ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อรอดูความชัดเจน ว่าจะใช้โรงงานไหนทำอะไร
"เราได้ยื่นเพื่อขอเข้าอีอีซีไปแล้ว ซึ่งโรงงานของเราทั้งบ้านโพธิ์ และเกตเวย์อยู่ในเขตอีอีซีทั้ง 2 แห่ง อย่างบ้านโพธิ์เรามีพื้นที่อยู่ค่อนข้างมากสำหรับการขยายหรือจะทำอะไรเพิ่มเติม ส่วนโรงงานเกตเวย์ซึ่งวันนี้เราใช้ผลิตรถเก๋ง ซึ่งโตโยต้ายังมีเวลาที่จะต้องศึกษาว่าจะใช้โรงงานไหนเพื่อผลิตอะไรในโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เราได้ขอรับสิทธิไปก่อน"

ยันต่อยอดถึงรถอีวี

นายฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้โตโยต้าได้เคยส่งสัญญาณไปแล้วว่า ทิศทางที่เหมาะสมคือการก้าวไปทีละสเต็ป คือไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี แต่จากเงื่อนไขของกรอบระยะเวลา 3 ปี ที่บีโอไอกำหนดนั้น ทำให้ขณะนี้บริษัทยังไม่ฟันธงถึงทิศทางเทคโนโลยีที่โตโยต้าจะไปนั้น อะไรจะมาก่อน เพราะทั้งสองเทคโนโลยีนั้นจะต้องใช้เวลาศึกษาถึงความเหมาะสมและการตอบรับของลูกค้าชาวไทยเป็นสำคัญ
แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปว่า สิทธิประโยชน์ที่รัฐให้เบื้องต้น (บีโอไอ) คือสิ่งที่โตโยต้ามีพร้อมหมดแล้ว เช่น การนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้า โตโยต้ายื่นไปเพื่อเป็นการรักษาสิทธิไม่ให้ตกขบวน 
ส่วนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะออกมานั้นคงต้องรอดูในช่วงสิ้นเดือนนี้ที่จะมีการพิจารณา หรือเทลเลอร์เมดให้เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีหลากหลายอุตสาหกรรมอยู่ในเขตอีอีซีด้วย
"นิคมยังไงต้องยื่นในอีอีซีให้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่า แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการภายในนิคมของตนเองและผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนรายใหม่"

ปลื้มปี"61 โต 37%

สำหรับยอดการจำหน่ายรถยนต์ในปี 2561ที่ผ่านมา นายซึงาตะเปิดเผยว่า มียอดขายรถยนต์รวมอยู่ที่ 1,039,158 คัน เพิ่มขึ้น 19.2% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 397,542 คัน โต 14.8% รถเพื่อการพาณิชย์ จำนวน 641,616 คัน โต 22.1%ปัจจัยที่ทำให้ตลาดมีการเติบโตจากการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ เดิมคาดว่าจะมียอดขายที่ 900,000 คันนั้น เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ผลักดันให้จีดีพีของประเทศไทยเติบโต 4.2% และการส่งรถยนต์รถใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นทางการเงินผ่านเงื่อนไขทางไฟแนนซ์ ส่งผลให้ยอดขายปีที่ผ่านมา 1,039,158 คัน และถือเป็นการขายเกินหนึ่งล้านคันเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของตลาดรถยนต์ไทย
ขณะที่โตโยต้ามียอดขายทั้งสิ้น 315,113 คัน โต 31.2% โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 30.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.8 จุด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 112,394 คัน เพิ่มขึ้น 16.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 202,719 คัน เพิ่มขึ้น 41.2% ส่วนตลาดส่งออกนั้น ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 293,940 คัน ลดลง 1.8% คิดเป็นมูลค่า 154,560 ล้านบาท ส่งออกชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ มูลค่า 119,284 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 273,844 ล้านบาท ลดลง 2.6% ในปีที่ผ่านมาโตโยต้ามีการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกทั้งสิ้น 588,939 คัน เพิ่มขึ้น 12.5% สำหรับปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 1 ล้านคัน ลดลง 3.8% 

มั่นใจขายปีนี้ทะลุ 3.3 แสนคัน

โตโยต้าตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่ 330,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.7% มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 33% และปีนี้โตโยต้าได้ตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกลง 2% เหลือ 577,000 คัน