เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์มองพลาสติกอย่างจริงจัง

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 495 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ  โดยเฉพาะการลดมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นับเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ Super Engineering Plastics เป็นวัสดุที่น่าจับตามอง และอยู่ระหว่างการพิจารณานำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่างจริงจังในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบัน Super Engineering Plastics ยังคงเป็นวัสดุที่มีราคาแพง แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การผลิตสามารถทำได้ง่ายขึ้น และประหยัดกว่าเดิม

ที่ผ่านมา Super Engineering Plastics มักถูกใช้ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก หากสามารถนำ Super Engineering Plastics มาใช้ในยานยนต์ได้ ก็จะสามารถลดน้ำหนักยานยนต์ลงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งด้วยความที่เป็นพลาสติกก็จะทำให้ดัดแปลงได้ง่าย ส่งผลให้การผลิตยานยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Sumitomo Chemical เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัสดุเหล่านี้ โดยทางบริษัท อยู่ระหว่างการเสนอให้มีการนำ  Super Engineering Plastics ที่ทนความร้อนสูง ไปใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด พร้อมพัฒนาเฟืองทดรอบสำหรับมอเตอร์ขนาดเล็ก

โดยมอเตอร์ขนาดเล็กนี้ ใช้เฟืองทดรอบในการส่งกำลังจากมอเตอร์ไปยังชิ้นส่วนยานยนต์อื่น ๆ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เฟืองได้ถูกพัฒนาให้หมุนด้วยความเร็วสูง เพื่อให้การส่งกำลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำมาซึ่งความต้องการเฟืองที่ทนความร้อนได้ดี คุณสมบัติเด่นของ Super Engineering Plastics ก็คือ สามารถทนความร้อนได้สูงกว่าไนล่อน เบากว่าโลหะ และได้ถูกออกแบบให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำมันหล่อลื่น ทำให้มีอิสระในการออกแบบฟันเฟืองสูงขึ้น

โดยเฟือง Super Engineering Plastics ของ Sumitomo Chemical ผลิตขึ้นจาก Liquid Crystal Polymer (LCP), Poly Ether Sulphone (PES), และ Polyether ether ketone (PEEK) ซึ่งเมื่อคำนึงจากแนวโน้มในอนาคต ที่ยานยนต์จะมีมอเตอร์มากขึ้นแล้ว การเปลี่ยนเฟืองในยานยนต์เป็นพลาสติก จะสามารถช่วยลดน้ำหนักลงได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้งานจริงได้ในขณะนี้ รวมไปถึงการเสนอให้ใช้ LCP เป็นฉนวนไฟฟ้าของมอเตอร์อีกด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับวัสดุที่ใช้ในปัจจุบันแล้ว พบว่า LCP มีอายุการใช้งานที่สูงกว่าถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็เริ่มมีผู้ที่หันมาใช้ LCP ในการผลิตชิ้นส่วนรอบเซมิคอนดักเตอร์ และ PES ในการผลิตวาล์วควบคุมน้ำมันแล้ว