จุดเปลี่ยนการพัฒนาหุ่นยนต์? เมื่อญี่ปุ่นเทงบวิจัย AI แทน

อัปเดตล่าสุด 8 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 594 Reads   

เทคโนโลยี บุคลากร และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้วิจัยหุ่นยนต์ญี่ปุ่น ปีงบประมาณ 2019 อาจกลายเป็นจุดพลิกผัน เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติกลายเป็นเป้าหมายในการลงทุนวิจัยและพัฒนาแทนหุ่นยนต์ ทำให้ในหมู่นักวิจัยเกิดความคิดว่าแนวโน้มหลักในการพัฒนาหุ่นยนต์ในอนาคต อาจกลายเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ในฐานะ “ของแถม” ของ AI ก็เป็นได้ และจากแผนการแบ่งงบประมาณในระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับ AI มากกว่าหุ่นยนต์เช่นนี้แล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทเช่นไรต่อไป

จุดเปลี่ยนของนโยบายด้านหุ่นยนต์

Mr. Hajime Asama ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว และสมาชิกคนสำคัญของ Council on Competitiveness-Nippon (COCN) กล่าวแสดงความเห็นบนเวทีที่ประชุมของ Robotics Society of Japan (RSJ) เมื่อเดือนมิถุนายนว่า “ปัจจุบันเรายังไม่มีการเจรจาในเรื่องงบประมาณกับรัฐบาลญี่ปุ่นแต่อย่างใด”

โดย Mr. Asama นี้เอง ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ในการเสนอร่างนโยบายผลักดันการใช้งานหุ่นยนต์ให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่น และฝากผลงานไว้กับ Strategic Innovation Promotion Program (SIP) และ Impulsing Paradigm Change through Disruptive Technologies Program (ImPACT) ของสำนักงานคณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นผู้ผลักดัน Fukushima Robot Test Field (RTF) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการรับมือภัยพิบัติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้โครงการ SIP และ ImPACT สิ้นสุดในปีงบประมาณ 2018 นี้ และไม่มีโครงการใดที่จะมารับช่วงการพัฒนาหุ่นยนต์ต่อจากทั้ง 2 โครงการ ซึ่งศาสตราจารย์ Satoshi Tadokoro จากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ ผู้รับผิดชอบโครงการ ImPACT กล่าวว่า “RTF เพียงแห่งเดียวไม่อาจรองรับการพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศญี่ปุ่นได้” อีกทั้งหากไม่มีการรับช่วงงานต่อแล้วเช่นนี้ RTF เองก็อาจจะต้องยุติการวิจัยลงด้วยก็เป็นได้

2 เหตุผลสำคัญ
สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งพัฒนา AI มากกว่าหุ่นยนต์มี 2 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องการทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและโดรน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
  2. เทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างหุ่นยนต์ไม่อาจเกิดขึ้นมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเพียงอย่างเดียว หรือต่อให้เกิดขึ้น หากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อก็ไม่อาจสร้างประโยชน์ให้แพร่หลายได้ 

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การลงทุนด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่าง AI นั้น หากมีข้อมูลเพียงพอ ก็จะสามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้ชัดเจนกว่าการพัฒนาหุ่นยนต์

แนวทางของญี่ปุ่น

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังตื่นตัวกับการพัฒนาหุ่นยนต์เมื่อปี 2014 แต่ซิลิคอนวัลเลย์พบว่าการพัฒนาหุ่นยนต์นั้นยากลำบากกว่าการพัฒนา AI มาก ส่งผลให้เกิดธุรกิจด้าน AI ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และทำให้งบประมาณในการพัฒนาถูกนำไปใช้ในการพัฒนา AI และบริษัทที่พัฒนาควบคู่ทั้ง 2 ด้านแทน 

อย่างไรก็ตาม การที่ซิลิคอนวัลเลย์เปลี่ยนมามุ่งพัฒนา AI แทนหุ่นยนต์นี้ ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าแนวทางของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ถูกต้อง ซึ่ง Mr. Asama ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “หากญี่ปุ่นต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนา AI แล้ว สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำไม่ได้มีแค่การพัฒนา AI และหุ่นยนต์ แต่จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องนับ 10 - 20 ปี เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความพร้อม และเทคโนโลยีที่จำเป็นให้ได้เสียก่อน”