อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจรของเยอรมนี เล็งลงทุนในนิคมฯ พื้นที่ EEC

อัปเดตล่าสุด 26 ธ.ค. 2562
  • Share :

สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งประเทศไทยมีฐานเดิมที่แข็งแกร่ง ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ภาครัฐให้การส่งเสริม ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ให้อยู่ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วย โดยอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรประกอบด้วย 3 ส่วน คือการให้บริการสมัยใหม่ การวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการวิจัยยา-ผลิตเวชภัณฑ์ ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยเพิ่มเติม ได้แก่ การให้บริการด้านการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน  การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล  ส่งเสริมการวิจัยยาและการผลิตยาที่ทันสมัย ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศในเอเชีย และส่งเสริมการวิจัยและผลิตชีวเวชภัณฑ์โดยมุ่งเน้นที่การผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar)

ท้ั้งนี้ ในนบรรดาอุตสาหกรรมกลุ่ม New Engine of Growth ทั้งหมด อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ถือว่ามีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปมากที่สุด เนื่องจากครอบคลุมเรื่องสุขภาพทั้งระบบของประชาชนทุกด้าน ทุกระดับ ทั้งในเรื่องการป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการบำบัดรักษา โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อาทิ ผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นเนื่องจากการดูแลและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุข และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพทั้งหลาย รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์

รายงาน 2019 Global Health Care Outlook โดย Deloitte ระบุว่า เม็ดเงินที่ใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 10.059 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 5.4% เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2556-2560 ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.7%  ขณะที่ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทยว่า มีมูลค่าราว 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5.6 แสนล้านบาท

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th