เมื่อสินค้าถูก "ให้เช่า" เข้าแทนที่

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 442 Reads   

เมื่อการขายสินค้าทำได้ยากขึ้น หลายธุรกิจจึงให้ความสนใจใน “Subscription Service” การบริการแบบให้เช่าใช้ ซึ่งลูกค้าสามารถชำระเงิน เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการใช้สินค้านั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกช่องทาง ที่สามารถใช้ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพิ่มเติมจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีอีกวัตถุประสงค์ คือใช้บริการให้เช่า ในการประเมินผลตอบรับของตลาดที่มีต่อสินค้านั้น ๆ อีกด้วย

ขับรถหรู ด้วยบริการให้เช่าจาก Toyota


บริการเช่ารถรายเดือน เพื่อให้การขับขี่ยานยนต์เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

Toyota ได้ก่อตั้ง “KINTO” บริษัทลูกเพื่อรับผิดชอบบริการให้เช่ายานยนต์ และเริ่มทดลองบริการให้เช่าแล้วในจังหวัดโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในการผันตัวสู่บริษัทด้านการคมนาคมตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ Toyota

Mr. Shinya Kotera CEO บริษัท KINTO กล่าวแสดงความเห็นว่า “สำหรับคนทั่วไปแล้ว การซื้อรถเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินใจได้โดยง่าย บริษัทเราจึงมีความคิดว่า จะทำอย่างไร ลูกค้าจึงจะมีรถขับได้โดยไม่ต้องซื้อรถ” ซึ่งผลที่ได้คือบริการ “KINTO SELECT” ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งบริการนี้ มีค่าใช้จ่ายรวมภาษีแล้วอยู่ที่เดือนละ 194,400 เยน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าประกันอุบัติเหตุ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยบริการนี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถเลือกเปลี่ยนยานยนต์ที่ต้องการได้ทั้งหมด 6 รุ่น โดยยานยนต์รุ่นแรกที่อยู่ในบริการให้เช่า คือ Lexus ยานยนต์ระดับพรีเมียมของบริษัท Toyota

นอกจากนี้ ทาง KINTO ยังมีกำหนดการเปิดให้บริการแบบเรียบง่ายเพิ่มในวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งผู้ใช้บริการ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากค่าน้ำมัน และค่าที่จอดรถอีกด้วย

เครื่องพิมพ์ บริการให้เช่าที่สำนักงานคุ้นเคย


เครื่องพิมพ์ให้เช่าของ Epson

ธุรกิจให้เช่าเครื่องพิมพ์ คืออีกธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นในแทบทุกสำนักงาน จึงเป็นเหตุให้ Epson ตัดสินใจเปิดให้บริการเช่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 ทั้งในส่วนของเครื่องปรินท์กระดาษ A4 และกระดาษ A3 โดยสามารถปริ้น และถ่ายเอกสารได้ตามจำนวนที่กำหนด อีกทั้งไม่เสียค่าหมึก และค่าซ่อมบำรุงอีกด้วย

Canon Marketing Japan เป็นอีกบริษัทที่ให้บริการเช่าเครื่องพิมพ์ ซึ่งเริ่มให้บริการในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีรูปแบบบริการเป็นการให้เช่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจำนวนหลายเครื่องสำหรับอาคารสำนักงาน ซึ่งผู้ใช้แสดงความเห็นว่า “มีราคาถูก และสามารถคำนวนเป็น Fixed Cost ได้ง่าย”

อีกรายหนึ่งในธุรกิจนี้คือ Ricoh ซึ่งเลือกแอพลิเคชันบนระบบคลาวด์มาเป็นสินค้าให้เช่าในเดือนมกราคมที่ผ่านมา   

เพลิดเพลินไปกับโทรทัศน์รุ่นล่าสุดจาก Panasonic


จอ OLED ให้เช่าของ Panasonic

Panasonic เป็นอีกบริษัทที่เข้าสู่ธุรกิจให้เช่า โดยเริ่มเปิดบริการให้เช่าโทรทัศน์ในบางสาขาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยผู้ใช้สามารถเสียค่าเช่าแบบรายเดือน เพื่อเช่าโทรทัศน์จากหน้าร้าน Panasonic และสามารถนำโทรทัศน์ที่เช่าไปแล้ว มาแลกเป็นโทรทัศน์รุ่นใหม่แทนได้ปีละครั้ง

โดยบริการนี้ มีระยะเวลาให้เลือกคือ 3 ปี และ 5 ปี เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนโทรทัศน์ที่เช่าไปเป็นสินค้ารุ่นล่าสุดได้ตลอดสัญญาเช่า โดยโทรทัศน์ที่ให้เช่าในปัจจุบัน คือจอ OLED ขนาด 55 นิ้ว ในราคาเพียงเดือนละ 355 เยนเท่านั้น นอกจากนี้ หากตัดสินใจยกเลิกสัญญา ก็สามารถเลือกจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือ เพื่อซื้อโทรทัศน์เครื่องนั้นแทนการคืนสินค้าได้อีกด้วย

อีกทั้งบริการนี้ ยังสามารถนำโทรทัศน์ไปซ่อมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งทางบริษัทคาดการณ์ว่า จะสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความต้อการซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท และการเข้าซ่อมถึงที่พัก ยังเปิดช่องทางให้พนักงาน สามารถนำเสนอสินค้าอื่น ๆ เช่นตู้เย็น ให้เหมาะสมกับที่พักอาศัยของลูกค้าได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้า และเก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้าเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลต่อไป

เปลี่ยนเครื่องสำอางรายเดือน


แพ็คเกจ “BLOOMBOX” จากบริษัท Istyle

Istyle ธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นอีกธุรกิจที่ให้ความสนใจในบริการให้เช่า ด้วยแพ็คเกจ “BLOOMBOX” ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในขนาดเดียวกันกับสินค้าทดลองใช้ ซึ่งทางบริษัทจะจัดหาสินค้าที่ดูเหมาะสมกับลูกค้าส่งให้เดือนละครั้ง เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของบริษัท

เมื่อลูกค้าสมัครใช้บริการ ลูกค้าจะต้องทำการกรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น สภาพผิวของตน มีสิ่งที่แพ้หรือไม่ และเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ นอกจากนี้ ในแพ็คเกจ จะถูกจัดเครื่องสำอางค์ให้ต่างไปในธีมของแต่ละเดือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถทดลองผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด และกระตุ้นให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น

โดยแนวคิดนี้ เกิดจากการที่ลูกค้ามีความเห็นว่า เครื่องสำอางที่ซื้อไปแล้ว มีทั้งที่ได้ใช้จริง มีโอกาสใช้น้อย หรือใช้แล้วไม่เหมาะกับสภาพผิวของตน โดย Istyle แสดงความเห็นว่า บริการเช่นนี้ สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าตัวอย่างให้กับตัวแทนจำหน่ายได้เป็นอย่างมาก

บริการให้เช่าในธุรกิจเฟอนิเจอร์ และเสื้อผ้า

KAMARQGROUP ผู้ผลิตเฟอนิเจอร์ เริ่มให้บริการเช่นโต๊ะ เก้าอี้ เตียง โซฟา และอื่น ๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งพบว่าลูกค้าส่วนมาก ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเฟอนิเจอร์ที่เน้นไปในด้านงานดีไซน์ ซึ่งหลังหมดสัญญาเช่าแล้ว ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะเช่าต่อ ส่งคืน หรือซื้อไว้เป็นของตน

Renown ธุรกิจเครื่องแต่งกาย เป็นอีกบริษัทที่เปิดบริการให้เช่าสินค้าเสื้อผ้าในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยในช่วงแรก ได้เน้นไปที่บริการให้เช่าชุดสูทสำหรับนักธุรกิจ ตอบสนองความต้องการในการออกงาน และมีผลตอบรับเป็นอย่างดีในกลุ่มลูกค้า เนื่องจากสามารถคืน หรือซื้อเก็บไว้เองได้ อีกทั้งยังประหยัดค่าซัก และเหมาะต่อผู้เช่าที่ไม่มีพื้นที่เก็บเสื้อผ้าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากนี้ ทางบริษัทก็มีแนวทางจะให้เช่าเสื้อผ้าตามฤดูกาลอีกด้วย