ธุรกิจช็อกขึ้นค่าแรง 400 บาท ทุบ SME-ต่างชาติหนี หอการค้าทั่วปท.ฮือต้าน

ธุรกิจช็อกขึ้นค่าแรง 400 บาท ทุบ SME-ต่างชาติหนี หอการค้าทั่วปท.ฮือต้าน

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ค. 2562
  • Share :

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทำธุรกิจสะเทือนทั้งระบบ หอการค้า-สภาอุตฯออกโรงจี้รัฐบาลทบทวน หวั่นซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจ สงครามการค้า ค่าบาทแข็ง ชี้เอสเอ็มอีทั่วประเทศระส่ำ-ผวาต่างชาติย้ายฐานลงทุน นัดถกด่วนสมาคมการค้า-หอการค้าทั่วประเทศ ประเมินผลกระทบพร้อมกำหนดท่าทีสกัดแผนปรับขึ้นค่าจ้างก้าวกระโดด เผยเอกชนฮือต้านยกแผงทั้ง “สมาคมอสังหาฯ-รับเหมา-ร้านอาหาร-โรงแรม”

แม้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 25 ก.ค. 2562 แต่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคร่วมรัฐบาลหารือกัน และได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาท/วัน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับนายจ้าง ผู้ประกอบการทั้งระบบ โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็กหรือเอสเอ็มอี ภาคอุตสาหกรรม ผู้ส่งออก อสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมา ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ เพราะหวั่นเกรงว่าต้นทุนค่าแรงจะทำให้มีภาระหนักมากขึ้น เป็นอุปสรรคในการแข่งขัน ซ้ำเติมปัญหาที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และกำลังซื้อทั้งในประเทศ และตลาดโลกที่ชะลอตัวรวมทั้งปัญหาสงครามทางการค่า การแข็งค่าของเงินบาท ฯลฯ

ชี้กระทบ SMEs ไทย-ต่างชาติ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เริ่มจากการประชุมหารือกันในคณะกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะคนกลาง เพื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด คงเป็นไปไม่ได้ที่แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นในอัตราเดียวกัน และต้องพิจารณาผลกระทบที่จะตามมาด้วยเพราะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะผู้ประกอบการไทย แต่รวมถึงต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

หวั่นย้ายฐานการลงทุน 

หากปรับค่าแรงขึ้นในอัตราเดียวกัน โดยไม่ได้ประชุมหารือไตรภาคีเพื่อพิจารณาอัตราที่เหมาะสม ผู้ประกอบการอาจจะย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อไปใช้แรงงานที่ราคาถูกกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายฐานไปก่อน หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน มองว่าขณะนี้บางจังหวัดอาจไม่ต้องการให้ปรับขึ้น เพราะจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงอยู่แล้ว ประกอบกับสินค้าขายไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจ โอกาสที่จะย้ายฐานหรือเลิกจ้างก็มีสูง และสิ่งควรทำ คือ การพัฒนาแรงงาน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หากเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานกลุ่มนี้ได้ ค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นได้

ระดมพลทั่ว ปท.สกัดขึ้นค่าแรง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 15 ก.ค. 2562 ได้มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงาน สภาหอการค้าฯ โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นค่าแรงงานขั้นต่ำที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ขึ้นหารือเร่งด่วนด้วย ซึ่งคณะทำงานไม่เห็นด้วยหากจะปรับขึ้นค่าแรงโดยไม่มีหลักการ และไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่มีหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติอยู่แล้ว จะมีการประชุมเพื่อประเมินผลกระทบทั้งในส่วนของหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อไป

“SMEs-เกษตร-ท่องเที่ยว” อ่วม

“เท่าที่หารือกัน มองว่าประเด็นขึ้นค่าแรงยังไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล หอการค้าจะรอดูทิศทางการกำหนดนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา 25-26 ก.ค. ก่อนกำหนดมาตรการขั้นต่อไป เพราะถ้าปรับขึ้นค่าแรงงานโดยไม่สอดคล้องหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว บริการ หนักสุดคือเอสเอ็มอีจะกระทบมาก เช่น ในอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 10-20% แต่ถ้าเป็นการทำการเกษตร สัดส่วนค่าแรงจะสูงกว่านั้น”

ส.เอสเอ็มอีชี้ 50,000 รายระส่ำ 

นายแสงชัย ธีรกุลวานิช เลขาธิการและประธานกรรมการสมาพันธ์ SMEs ไทยส่วนภูมิภาค สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า กระแสข่าวว่ารัฐบาลจะนำนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใช้ในการหาเสียง อาทิ ค่าแรงวันละ 400 บาท เงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 20,000 บาท เงินเดือน ปวช.และ ปวส. 15,000-18,000 บาท มาใช้ในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการจำนวนมาก และจะกระทบธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่ประมาณ 50,000 รายในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กจ้างงาน 10-50 คน 60-70% หรือ 30,000 ราย รายกลางที่มีการจ้างงาน 50-100 คน 30-40% รวมมีการจ้างงานทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 500,000 คน จะทำให้เอสเอ็มอีบางรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงได้ ประสบปัญหาขาดทุน กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ สมาพันธ์เอสเอ็มอีได้ประชุมกันและมีมติว่าจะจัดทำโพลสำรวจความเห็นการปรับขึ้นค่าแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอี 3,000-5,000 ราย และสรุปเสนอต่อนายกฯภายใน 1-2 เดือนนี้

ส.อ.ท.จี้รัฐชดเชยส่วนต่างค่าแรง

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทันที 10-20% บริษัทไหนสู้ไม่ไหวอาจจะลดคน หรือหันไปใช้เครื่องจักร หรือนวัตกรรมแทน ที่น่าห่วงคือบริษัทต่างชาติทบทวนแผนการลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น หากนโยบายนี้ชัดเจนจะมีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ว่าจำเป็นต้องทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่
“ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยหารือตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานแล้ว พรรคยอมรับฟังข้อเสนอเอกชนว่าต้องปรับขึ้นตามทักษะฝีมือแรงงานเท่านั้น และได้เสนอให้ดำเนินการตามแนวทางพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า หากขึ้นค่าแรงรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น”

อสังหาฯ หวั่นทุบกำลังซื้อ

สำหรับความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ปีนี้ภาคอสังหาฯ เจอศึกหนักจากการออกมาตรการ LTV-loan to value ทำให้กำลังซื้อหายไปส่วนหนึ่ง ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท อาจซ้ำเติมสถานการณ์ทำให้ครึ่งปีหลังชะลอตัว หรืออย่างเก่งได้แค่ทรงตัว ซึ่งเรื่องแรกสุดที่รัฐบาลใหม่ควรทำ คือ ทำเศรษฐกิจในภาพใหญ่ให้ฟื้นตัวเร็วที่สุด หรือหากยืนยันเดินหน้าค่าแรง 400 บาท สิ่งที่ต้องทำเป็นคู่ขนานคือการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน หรือเพิ่มโปรดักติวิตี้ ไม่ใช่ทำเพียงขาเดียว

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ค่าแรง 400 บาทจะส่งผลกระทบทำให้บริษัทขนาดกลาง-เล็กในต่างจังหวัดอาจต้องชะลอหรือหยุดทำโครงการเพราะทำแล้วขาดทุน หรือทำบ้านออกมาขายแต่ไม่มีคนซื้อ ประเด็นคนตกงานจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลอย่างแน่นอน

ส่วนนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัยระบุว่า สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดค่าแรง 400 บาท กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเด็นไทยอาจไม่ดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI-foreign direct investment

รับเหมาชี้ขอรัฐปรับราคากลาง

ส่วนวงการรับเหมาก่อสร้าง นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท/วัน ของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ควรนำเข้าหารือในคณะกรรมการค่าจ้างกลางให้รอบคอบก่อน เพราะกระทบในวงกว้าง และต้องไม่ลืมว่า การปรับค่าแรงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่ค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคจะเพิ่มตามไปด้วย ที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลกระทบคือ ราคากลางโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ปัจจุบันกรมบัญชีกลางจะไม่ได้รวมเอาค่าแรงเป็นปัจจัยในการคิดราคากลางโครงการต่าง ๆ แต่เอกชนที่เข้าประมูลงานจะผนวกค่าแรงเป็นปัจจัยเสริมในการพิจารณาลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ จึงขอเรียกร้องให้กรมบัญชีกลางรวมค่าแรงของคนงานรวมในสูตรคำนวณราคากลางด้วย

“ปัจจุบันแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าว เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ส่วนแรงงานไทยไม่มีใครทำงานที่ใช้แรงงานหนัก ส่วนใหญ่มักเป็นแรงงานมีฝีมือได้รับค่าแรงมากกว่า 400 บาท/วันอยู่แล้ว หากปรับค่าแรงเป็น 400 บาทจริง แรงงานต่างด้าวจะได้ผลประโยชน์มากกว่า”

สอดคล้องกับที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานก่อสร้าง แต่เชื่อว่าภาครัฐคงเตรียมมาตรการดูแลก่อนจะประกาศขึ้น รวมถึงขอให้การกำหนดราคากลางของภาครัฐสอดคล้องกับต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นของค่าแรงด้วย

สินค้า-ค่าครองชีพขยับตาม

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มให้ความเห็นว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มพบว่า ทุกคนล้วนเป็นห่วงเรื่องนี้มาก และกังวลว่าการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท/วัน จะทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการลง ส่วนผู้ที่ยังอยู่ได้ก็ต้องปรับราคาสินค้าตามภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

“หลังมีกระแสข่าวการขึ้นค่าแรงงาน ค่าครองชีพหลาย ๆ อย่างปรับขึ้นไปรอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร ฯลฯ ที่สำคัญทุกวันนี้คนไทยไม่ทำงานการใช้แรงงานแล้ว คนที่ได้ประโยชน์คือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น หากรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างแรงขั้นต่ำจริง ก็ควรจะมีมาตรการขึ้นมาซัพพอร์ตผู้ประกอบการด้วย”

ส.โรงแรมวอนรัฐเบรกขึ้นค่าแรง

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 330 บาท เป็น 400 บาท/วัน เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว และนายจ้างให้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว ไม่รวมเซอร์วิสชาร์จที่จะได้รับ หากขึ้นค่าแรงอีกจะเป็นภาระกับธุรกิจมาก และไม่ควรปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด แรงงานต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองด้วย ถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมด จะมีแรงงานประเภทที่ไม่อยากพัฒนาตัวเอง ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน น่าจะค่อย ๆ ปรับขึ้น และอย่าขึ้นค่าแรงเกินอัตราเงินเฟ้อ

สอดคล้องกับที่นายกฤษฎา ตันสกุล ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ชี้ว่า การขึ้นค่าแรงจาก 300 บาท เป็น 400 บาท/วัน จะกระทบการจ้างงานรุนแรง เนื่องจากนายจ้างอาจไม่สามารถแบกภาระได้ รัฐบาลควรพยุงสถานการณ์ให้นายจ้างลูกจ้างประคองตัวต่อไปได้ก่อนจะดีกว่าท่องเที่ยวภูเก็ตเลิกจ้างเพียบฝ่ายส่งเสริมการมีงานทำ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยทำให้ธุรกิจทัวร์ โรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวซบเซา มีการปลดคนงานมากที่สุด เพราะประสบภาวะขาดทุนและบางรายปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ได้รับรายงานตัวเลขผู้ที่ขึ้นทะเบียนว่างงานปี 2562 รับเงินชดเชยเฉลี่ยเดือนละ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยให้ ส่วนตัวเลขผู้หางานทำหรือว่างงานเฉลี่ยเดือนละ 350 คน ถ้ารวมตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงปัจจุบัน 2,450 คน

บอร์ดค่าจ้างเล็งถกค่าแรงขั้นต่ำ

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.ค.นี้จะมีการเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้าง ในระหว่างนี้อนุกรรมการวิชาการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณา เพื่อทบทวนรายละเอียดอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอมาให้ปรับขึ้นอัตรา 2-10 บาท/วัน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด 31 จังหวัดเสนอ อีก 46 จังหวัดไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง

เดิมจะให้ปรับขึ้นในอัตรา 2 บาท/วัน โดยจังหวัดที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 10 บาท/วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต ปรับขึ้น 7 บาท/วัน ได้แก่ สมุทรปราการ ส่วนชลบุรี, ระยอง ให้ปรับขึ้น 5 บาท ส่วนกระแสข่าวจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราแบบก้าวกระโดด จะกระทบนายจ้างโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และจะทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานที่มีปัจจัยต่าง ๆ มากระทบ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะมาแทนที่แรงงาน สงครามการค้า พบว่าสถานการณ์การว่างงานของผู้ประกันตนกรณีนี้มีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 18,237 คน หรือเพิ่มขึ้น 11.72 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ และภาคการผลิต