สถาบันยานยนต์ ร่วม เจโทร เตรียมพร้อมผู้ประกอบการไทย รับมือกฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 802 Reads   

สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แนะนำ “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” เน้นประโยชน์สู่ผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย

สถาบันยานยนต์และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ได้มีความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาภาคี (Letter of Intent: LOI) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 กรอบระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2561 – 2563) โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ในขอบเขตของความร่วมมืออยู่ 3 ด้าน คือ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 3. การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งส่งผลให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการชักนำให้บริษัทผู้ผลิตชั้นนำต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมา 

“ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ด้วยความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนา การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้กฎระเบียบและมาตรฐานระดับสากลในอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่เสมอ จนเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชียและระดับโลก รวมถึงยังได้สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ตามมากับอุตสาหกรรมยานยนต์ จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยในรูปแบบที่เรียกว่า “คลัสเตอร์” ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้งด้านนโยบายการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้เสมอมา กระทั่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต่อเนื่องด้านการเจริญเติบโต อีกทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซื้อขายชิ้นส่วนของภูมิภาค ตลอดจนเป็นฐานการผลิต (Base of Production) ที่สำคัญของญี่ปุ่น 

อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ เรียกว่า A-C-E-S (Autonomous, Connected, Electric and Sheared) Technology นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านแรงงาน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมมือกับเจโทร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งสองประเทศ

จากนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ประกอบด้วย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) จำนวน 4 ราย กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จำนวน 5 ราย และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) จำนวน 4 ราย


นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศไทย 2 ล้านคัน เป็นการผลิตโดยผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นถึงร้อยละ 86% ดังนั้นในยุคของยานยนต์อนาคต ญี่ปุ่นนั้นคาดว่าจะยังคงครองตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไป ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในสาขายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกอบรมวิศวกร รวมถึง "กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมีความจำเป็นในอนาคต เพื่อกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย สำหรับความร่วมมือกันระหว่างไทยและญี่ปุ่นในวันนี้ จะมีประโยชน์ต่อการสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ และทำให้สามารถขยายตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป โดยเจโทร กรุงเทพฯ จะเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตในประเทศไทย โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก จากตลาดขนาด 9,606 11,983 และ 20,204 คัน ในปี พ.ศ. 2559  ถึง พ.ศ. 2561 ตามลำดับ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ ปริมาณจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน มีจำนวนถึง 20,678 คัน และอาจมีจำนวนรวมในปี พ.ศ. 2562 กว่า 30,000 คัน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ ทางสถาบันได้เล็งเห็นถึงการแปลี่ยงแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงจัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายว่า “ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และ 1.5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ส่วนรถที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ ทั้งหมดจะเป็นรถ BEV ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาว ที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา” และเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ สถาบันฯ ได้เสนอนโยบายที่ต้องดำเนินการรวม 14 เรื่อง โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดทำมาตรฐานและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกิจกรรมจากความร่วมมือในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากด้านการผลิตยานยนต์แล้ว ยังมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมาก ดั้งนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยให้มุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่นั้น ถือว่าเป็นทิศทางในการพัฒนาที่ถูกต้องแล้ว

ความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในวันนี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันยานยนต์และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจาก The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (METI) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศญี่ปุ่นและไทย ที่ได้ร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เหมาะสม และเกิดเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างถึงที่สุด และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับอนาคตของประเทศไทยต่อไป ตลอดจนความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และด้านอื่น ๆ ของทั้งสองประเทศต่อไป 

การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “กฎระเบียบและมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า” ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจากผู้แทนประเทศญี่ปุ่นแก่ผู้ประกอบและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรฐานของประเทศไทยในอนาคต ตลอดจนยึดมั่นเจตนารมณ์
ในการร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งสองประเทศ ให้มีความก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนทั้งในปัจจุบัน และอนาคต