ยาง-พลาสติกคอมโพสิท’ เติบโตรับภาคผลิตไทย มุ่งรองรับ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
สถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมไทยคอมโพสิท มั่นใจการเติบโตของอุตสาหกรรม “พลาสติก – ยาง” ยังคงเติบโต โดยปี 2561 มีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติก 11.46 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการผลิตยาง ราว 5 ล้านตัน โดยเฉพาะ “พลาสติก คอมโพสิท” มีแนวโน้มความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อากาศยาน, ยานยนต์สมัยใหม่, ระบบรางรถไฟฟ้า ฯลฯ ดังนั้นเพื่อแสดงศักยภาพและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ‘เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย’ ผู้จัดแสดงงานด้านอุตสาหกรรม จัดงาน “ทีพลาส 2019” มหกรรมเทรดแฟร์ด้าน “พลาสติก – ยาง” ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
นายคงศักดิ์ ดอกบัว รองผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมพลาสติก ในปี 2561 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.28% ของจีดีพี หรือมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกอยู่ที่ 11.46 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกในการผลิตใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งนี้ สถาบันฯ คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเหนือจีดีพีประเทศเล็กน้อยที่ 3.9 – 4.0% ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งเสริมการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตขั้นต้นน้ำ และกลางน้ำ ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม
ด้าน นายกฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งวัตถุดิบต้นน้ำที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมไทยก็คือ ยาง โดยปริมาณการบริโภคยางของทั่วโลก 35% เป็นยางที่ผลิตจากประเทศไทย อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก โดยปริมาณการผลิตยางในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตัน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเล็งเห็นถึงโอกาสในการเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้การแปรรูปจากยางธรรมชาติมากขึ้น โดยตัวอย่างของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปยาง ที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกได้จำนวนมาก เช่น เส้นด้ายยางยืด, ถุงยางอนามัย และถุงมือยาง เป็นต้น
ทั้งนี การร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต จะทำให้ประเทศพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในด้านคุณภาพสินค้าแปรรูปจากยางในตลาดสากลได้ในไม่ช้า โดยปริมาณการแปรรูปยางธรรมชาติในประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในปี 2561 ได้แก่ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 38.48% และยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 0.54%
ด้าน นายสนติพีร์ เอมมณี ประธานสมาคมไทยคอมโพสิท กล่าวว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านแนวคิด New S-Curve นับเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยปัจจัยสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพื่อไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือวัตถุดิบการผลิตคุณภาพสูง ซึ่งวัตถุดิบหนึ่งที่มีแนวโน้มความต้องการใช้สูงในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ พลาสติกคอมโพสิท โดยต้องการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี ด้วยคุณสมบัติความคงทน แข็งแรง และน้ำหนักเบามาก ทำให้พลาสติกคอมโพสิทถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องการความปลอดภัยสูง 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่
- อุตสาหกรรมอากาศยาน อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องบินน้ำหนักเบา
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า
- ระบบขนส่งมวลชน อาทิ ระบบรางรถไฟฟ้า
- การเกษตรสมัยใหม่ อาทิ โดรนพ่นยาฆ่าแมลง
- อุตสาหกรรมอวกาศ อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหารอวกาศ
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th