ทำอย่างไรเมื่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจะก้าวสู่ยุค 4.0?

อัปเดตล่าสุด 22 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 1,187 Reads   

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) หรืออุตสาหกรรมกลางน้ำที่รองรับอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญเกือบทุกประเภท เนื่องจากการผลิตสินค้าหลายสาขาจำเป็นต้องอาศัยแม่พิมพ์ (Mold) ในการขึ้นรูปและกำหนดรูปร่างผลิตภัณฑ์ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและขนาดตามความต้องการทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่นๆ หรืออาจเรียกได้ว่า Mold and Die Mother of Industry โดยแม่พิมพ์ที่ดีจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตสามารถผลิตชิ้นส่วนได้อย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก มีรูปร่างและขนาดได้มาตรฐาน รวมทั้งลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต  ส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
 
และในประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการก็ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจแม่พิมพ์ทุกแขนง   โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิต รวมถึงพัฒนาวิชาชีพให้แก่ผู้ผลิตแม่พิมพ์ทั่วประเทศ  
 
และเนื่องในโอกาส 30 ปี ที่สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยได้รับการสนับสนุนจากกองพัฒนานวัตกรรมและ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจัดตั้งเป็นสมาคม จึงกำหนดจัดงานฉลองครบรอบ 30 ปี ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2561  ณ ห้องสุวรรณภูมิ A & B โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยมี ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นประธานในพิธี และภายในงานมีนักอุตสาหกรรมในวงการแม่พิมพ์ไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก
 

ภายในงาน สำนักข่าว M Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ถึง “ก้าวถัดไปของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย” ในมุมมองที่แตกต่างกันออกทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ประกอบการในภาคเอกชน
 
ก้าวถัดไปของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย
 

เมื่อเทรนด์ของอุตสาหกรรมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป การมาถึงของเทคโนโลยีในยุค 4.0 เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมต้องตื่นตัว คุณวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ได้กล่าวถึงก้าวถัดไปของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เอาไว้ว่า “เรื่องที่ท้าทายอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ คือการปรับตัวที่จะรองรับการมาถึงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ เช่น  การสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมพลาสติก อย่าง Biodegradable Plastic  (พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) , การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของชิ้นส่วนในยุคยานยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งอุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรองรับวิธีการทำแม่พิมพ์ในอุตสาหกรรมดังกล่าว”  
 

“ในขั้นถัดไป แม่พิมพ์ส่วนหนึ่งในอนาคต จะถูกแปรตัวเองให้กลายเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมฯ เริ่มเข้าไปทำตรงนี้แล้ว โดยเริ่มจากการทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในการผลิตเชิ้นส่วนครื่องมือแพทย์ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและนโยบายรัฐ” คุณวิโรจน์กล่าวเสริม

ในมุมมองของบุคลากรในภาครัฐอย่าง คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวนการสถาบันไทย-เยอรมัน ก็มองว่า “ในฐานะที่แม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งหลาย และเมื่ออุตสาหกรรมต่างๆ กำลังกล่าวเข้าสู่ 4.0 นั้น แม่พิมพ์ก็ต้องเข้าไปอยู่ใน 4.0 ด้วย กล่าวคือจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ในการผลิตแม่พิมพ์อย่าง IoT, Sensor, หรือ Big Data เพื่อให้การจัดการผลิต การปรับเปลี่ยน หรือการบำรุงรักษาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น”


ทางด้านผู้ประกอบการ คุณภานุรุจ มงคลบวรกิจ จาก บริษัทไทยโมล์ดแอนด์ดาย จำกัด กล่าวว่า “ด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ในประเทศไทยนั้นยังถือว่ายังถือว่ามีการพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือมาเลเซีย  ดังนั้นในอนาคตผู้ประกอบการจะต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตรวมถึงทักษะของบุคลากรให้มากขึ้น เพื่อที่จะรองรับออเดอร์ที่จะต้องใช้ทักษะ ความสามารถ และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น”


และในอีกมุมหนึ่งจาก ดร.ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง จาก บริษัท ไทยซัมมิท ออโตโมทีฟ จำกัด มองว่า “ปัจจุบันผู้ผลิตแม่พิมพ์ในประเทศไทยนั้นใช้ระยะเวลาในการผลิตตัวอย่างในพาร์ทของชิ้นส่วนเพื่อเสนอให้ลูกค้านานมาก  เพราะฉะนั้นหลักๆ เลยคือเราต้องพัฒนาในส่วนของ  Timing ตั้งแต่ขั้นตอนการทำ simulation ในกระบวนการผลิตให้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้ Lead-Time ในการผลิตนั้นสั้นลง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น โดยอาศัยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้ส่วนของเครื่องมือ เครื่องจักร องค์ความรู้ และความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อช่วยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ”

 
การขับเคลื่อนวงการแม่พิมพ์ในอนาคต นอกจากจะต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการผลิตแล้วนั้น การร่วมมือร่วมใจกันในทุกๆ ภาคส่วน ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในการผลิตแม่พิมพ์ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นๆ ในยุค 4.0