การขึ้นค่าแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2562
  • Share :

หนึ่งในประเด็นใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังได้รับความสนใจในช่วงต้นปี 2019 นี้ คือประเด็นเรื่องการเรียกร้องขึ้นค่าแรงของ Japan Automobile Workers' Unions (JAW) ซึ่งไม่ได้มีการเรียกร้องตัวเลขที่แน่นอน แต่ได้ยืนยันถึงความต้องการในการขึ้นค่าแรงอย่างแน่ชัด

แน่นอนว่าในทุกอุตสาหกรรม การเรียกร้องขึ้นค่าแรง เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรม ที่นำมาซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต่างจากเดิม ความต้องการทักษะที่สูงขึ้น และการแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้หลายฝ่ายแสดงความต้องการที่จะลดช่องว่างระหว่างฐานเงินเดือนของธุรกิจรายใหญ่ และ SME

อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว การเรียกร้องขึ้นค่าแรงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และแนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) นั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ ทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ของผู้ผลิตยานยนต์ถูกนำไปใช้ในด้านนี้ ส่งผลให้การขึ้นค่าแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

และนี่คือ ความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อประเด็นการขึ้นแรงงาน คือ Mr. Akira Takakura ประธาน JAW และ Mr. Kazuhiro Odaka ประธานกรรมการแรงงานจาก Japan Automobile Manufacturers Association (JAMA) และเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Honda 

Mr. Akira Takakura ประธาน Japan Automobile Workers' Unions

 

การขึ้นค่าแรงโดยไม่เรียกร้องจำนวนเงินที่ชัดเจนเช่นนี้ คิดว่าจะสามารถทำให้คำร้องขึ้นค่าแรงประสบความสำเร็จหรือไม่

“มีหลายฝ่ายพูดว่าจะทำให้ไม่สำเร็จ แต่ในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เนื่องจากสิ่งที่เราต้องการคือการยกระดับค่าแรงในภาครวม ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีตัวเลขค่าแรงที่เหมาะสมมากน้อยต่างกันออกไป จึงทำให้ความเป็นไปได้ที่คำร้องขอขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จมีเพิ่มยิ่งขึ้น”

ทำไมถึงมุ่งประเด็นไปที่การขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ยเช่นนี้

“ในการขึ้นค่าแรงนั้น ที่ผ่านมาเราเรียกร้องการขึ้นค่าแรงแบบต่อหัว และกำหนดยอดที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยากในผู้ประกอบการหลายราย ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ตอบรับกับคำร้องมากนัก ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงเปลี่ยนมาเป็นการขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ย ซึ่งมีความเป็นไปได้กว่า”

คิดว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

“แน่นอนว่า การขึ้นค่าแรงโดยไม่เรียกร้องตัวเลขชัดเจนเช่นนี้ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ยาก และจำเป็นต้องใช้เวลากว่านโยบายนี้จะได้รับการตอบสนองอย่างทั่วถึง ซึ่งแน่นอนว่าในหมู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการขึ้นค่าแรงเป็นประจำนั้นไม่มีปัญหานัก แต่ในกลุ่ม SME นั้น ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงมีผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างเป็นประจำ ซึ่งหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ก็ไม่มีค่าอะไร ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้การขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ยประสบความสำเร็จด้วย

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในการทำงานในปัจจุบันยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การจะให้ทุกบริษัทขึ้นค่าแรงทีเดียวพร้อมกัน ในจำนวนเงินเท่ากันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกัน การเรียกร้องค่าแรงเฉลี่ยที่ไม่กำหนดจำนวนเงิน ทำให้แต่ละบริษัทสามารถจัดการแนวทาง และจำนวนเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะไม่เป็นภาระต่อบริษัทเท่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามปกติอีกด้วย”

Kazuhiro Odaka ประธานกรรมการแรงงานจาก Japan Automobile Manufacturers Association

คิดว่าการเรียกร้องขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นอย่างไร

“อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2019 นี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่าปีก่อน ทั้งสงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลก และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีทิศทางไปในการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า และแนวคิด CASE ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์ จำเป็นต้องพิจารณาให้ดีเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากมีการขึ้นค่าแรงเพิ่มมาแล้ว หากการจัดสรรงบประมาณทำได้ไม่ดี ก็อาจส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดความล่าช้าได้”

คิดว่าการขึ้นค่าแรง มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานหรือไม่

“เกี่ยวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น Connected Car และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligenc: AI) ด้วยเหตุนี้เอง การขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน สวัสดิการ และผลประโยชน์อื่น ๆ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่ีความรู้ความสามารถเองก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากหากไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ไม่อาจจะพัฒนาต่อไปได้”

“อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงนั้นไม่ได้ต้องคำนึงเฉพาะลูกจ้าง แต่เป็นคนที่ทำงานทั้งหมด ซึ่งการขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ยเช่นนี้ จะช่วยให้สามารถจัดสรรค่าแรงให้เหมาะสมกับทักษะที่ใช้ และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีทางเลือกอื่นอีกด้วย เช่น การจ้างงานระยะสั้นในอัตราค่าตอบแทนสูง หรือการร่วมมือกับบริษัทอื่นในโครงการต่าง ๆ แทนที่การจ้างพนักงานเพิ่ม”

มีทางเลือกอื่นนอกจากการขึ้นค่าแรงหรือไม่

“แน่นอนว่าการลงทุนให้กับลูกจ้างนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้วการลงทุนนี้ไม่ได้หมายถึงค่าแรงเท่านั้น แต่รวมถึงแนวทางอื่น ๆ เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น การปรับฐานเงินเดินพนักงานในตำแหน่งเดียวกันให้เท่ากัน การใช้มาตรฐานเดียวกันกับพนักงานทุกคน การลดช่องว่างระหว่างพนักงาน และอื่น ๆ”