078-เศรษฐกิจโลก-สงครามการค้า-IMF

ถอดรหัสคำเตือน IMF ระวัง ศก.โลกรูดไม่มีเบรก

อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 2562
  • Share :

คำปราศรัยครั้งแรกสุดในฐานะกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศของ คริสตาลินา จอร์จีวา นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งสืบต่อจาก คริสตีน ลาร์การ์ด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฟังเผิน ๆ เป็นการบอกเล่าถึงสถานะโดยรวมของเศรษฐกิจโลกตามความเป็นจริงเหมือนที่ทุกคนสัมผัสได้อยู่ในเวลานี้
 
จอร์จีวาบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว การค้าระหว่างประเทศแทบ “หยุดนิ่ง” ส่งผลให้เกิดการชะงักงัน หรือปั่นป่วนขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก กระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจและผู้บริโภค ลุกลามจากภาคการส่งออกไปยังภาคการผลิต การบริการ และส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นทั้งในด้านการลงทุนของบริษัทธุรกิจต่าง ๆ และทั้งต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในอันที่จะควักเงินออกจากกระเป๋ามาจับจ่าย

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่บอกเล่าถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไปทั้งโลกในเวลานี้ โดยให้น้ำหนักไปที่เรื่องของ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นสำคัญ

“เราเคยพูดกันมามากว่า ความขัดแย้งทางการค้านั้นเป็นอันตราย ตอนนี้เราได้เห็นกันแล้วว่า มันก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นจริง ๆ”

ในทรรศนะของไอเอ็มเอฟ สงครามการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกากับจีน ก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 200,000 ล้านดอลลาร์ของจำนวนนั้น คือ “ผลกระทบโดยตรง” ต่อธุรกิจและผู้บริโภค อีกส่วนที่ใหญ่โตกว่ามาก คือ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุน ในการบริโภคลดลงมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์นั้นเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 0.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของโลกทั้งหมดในปีนี้

“เท่ากับว่า อยู่ดี ๆ จีดีพีของสวิตฯ ทั้งประเทศถูกลบหายไปจากจีดีพีของทั้งโลก” จอร์จีวาเปรียบเปรยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าเอาไว้เช่นนั้น

แต่จอร์จีวาย้ำเอาไว้ชัดเจนว่า สงครามการค้าไม่ได้เป็นปัจจัยลบเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีการพ้นจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต และความตึงเครียดระหว่างประเทศอื่น ๆ 

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่ระบุว่า สภาวการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เบร็กซิตจะกลายเป็น “ความเจ็บปวด” สำหรับประชาชนอังกฤษโดยรวม แต่ไอเอ็มเอฟกังวลว่า เบร็กซิตจะส่งผลกระทบซ้ำซ้อนต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ต้องพึ่งพาตลาดอังกฤษและอียู ที่เผชิญหน้ากับปัญหาจากสงครามการค้าอยู่ก่อนแล้ว

จอร์จีวาบอกว่า ในเมื่อเป็นภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของแทบจะทุกประเทศพร้อม ๆ กัน ทุกประเทศก็ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้พร้อมคำถามคือ แก้อย่างไร ?

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดจากการชะลอตัวหนีไม่พ้น 2 ทาง หากไม่ใช้มาตรการทางการเงินก็เป็นมาตรการด้านการคลัง กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟบอกว่า แนวทางแก้ไขย่อมแตกต่างกันออกไปตามสภาวการณ์ในแต่ละประเทศ

ในสภาพอัตราเงินเฟ้อต่ำ การขยายตัวต่ำ อย่างเช่นที่เป็นอยู่นี้ การใช้นโยบายรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ย่อมส่งผลดีต่อการบริโภค กระตุ้นให้เกิดการใช้สอย เกิดการลงทุนไปในตัว แต่จอร์จีวาเตือนว่า ในหลายประเทศไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้อีกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยแทบจะเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ติดลบในหลายประเทศแล้วด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญก็คือการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้ในภาคเอกชนขึ้น ด้วยเหตุที่ผู้ลงทุนปล่อยกู้เลือกที่จะลงทุนเสี่ยงมากขึ้น เพราะต้องการได้ผลตอบแทนสูง

จอร์จีวาระบุว่า จากการวิเคราะห์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ขึ้น หนี้สินมากถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ เสี่ยงต่อการกลายเป็นหนี้เสีย เพราะการผิดนัดชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้

คำแนะนำของไอเอ็มเอฟก็คือ ประเทศไหนที่ใช้มาตรการทางการเงินไม่ได้ก็ต้องหันมาใช้มาตรการด้านการคลัง ใช้การลงทุนจากภาครัฐในโครงการสร้างหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคและของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

แต่จอร์จีวามีข้อสังเกตตามหลังมาด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือในเวลานี้ปริมาณหนี้ภาครัฐทั่วโลกรวมกันกำลังใกล้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว

สิ่งที่จอร์จีวาไม่ได้บอกออกมาชัดเจนก็คือ ในสภาวะกดดันเช่นนี้อาจมีบางประเทศที่ไม่สามารถใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ปัญหาชะลอตัวครั้งนี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาดอกเบี้ยก็ดี ปัญหาหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ดี

นั่นหมายถึงว่า อาจมีบางประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาการทรุดตัวต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ ตกลงสู่ภาวะถดถอยและตกต่ำแบบไม่ติดเบรกได้เช่นกันนั่นเอง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์