078-รถยนต์ไฟฟ้า-จีน-นโยบาย

จีนเลิกอุดหนุน “รถอีวี” บีบ 400 ผู้ผลิต “ควบรวม”

อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 598 Reads   

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (electric vehicles) ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาน้ำมัน กำลังได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกที่ต่างหันมาเร่งผลักดันการใช้งานรถยนต์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ที่มีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านหยวน แต่ปัจจุบันยอดขายลดลง หลังจากภาครัฐยุติการอุดหนุนเงินให้กับผู้บริโภค กำลังส่งผลให้อนาคตของรถอีวีในจีนดูจะไม่สดใสอย่างที่คาดหวังไว้

“บลูมเบิร์ก” รายงานว่า อุตสาหกรรมรถอีวีในจีนกำลังประสบภาวะซบเซา หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศปรับลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีหลายด้าน รวมทั้งการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภค และกำหนดโควตายอดขายเพื่อที่จะให้ได้รับเงินอุดหนุน

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถอีวีมาตั้งแต่ปี 2009 เพื่อกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมรถอีวีในประเทศ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ผลิตรถยนต์ของจีน จนทำให้จีนกลายเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้ง ทางการจีนยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมยอดจำหน่ายรถอีวีให้ได้สัดส่วนอย่างน้อย 25% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในปี 2025 และ 60% ในปี 2035

แต่ภายหลังดำเนินนโยบายดังกล่าว ทำให้จำนวนผู้ผลิตรถยนต์อีวีในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ผลิต “ยานยนต์พลังงานใหม่” (new enery vehicles cars) ทั้งรถอีวีและรถยนต์ไฮบริด มียอดจดทะเบียนมากถึง 486 บริษัท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเกินไปเมื่อเทียบกับยอดขายรถอีวี ทำให้รัฐบาลจีนประกาศปรับลดการสนับสนุน เพื่อบีบให้ผู้ผลิตรถอีวีทั้งหลายปรับตัวและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันมากขึ้น

“บิลล์ รัสโซ” ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “ออโตโมบิลิตี้ ลิมิเต็ด” และอดีตผู้บริหารของ “ไครสเลอร์” ค่ายรถยนต์สหรัฐระบุว่า “จีนกำลังตระหนักได้ว่าไม่ได้ต้องการบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ถึง 400 บริษัท อาจต้องการเพียงแค่ 20 บริษัทเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าบางรายต้องออกจากการแข่งขัน”

“ไชน่าเดลี่” รายงานว่า ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปรับลดการให้เงินสนับสนุนการซื้อรถอีวีของผู้บริโภคจาก 50,000 หยวน เหลือเพียง 25,000 หยวน สำหรับรถรุ่นที่มีระยะขับเคลื่อน 400 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนรถที่มีระยะขับเคลื่อน 250-399 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้งก็ได้รับเงินสนับสนุนเพียง 18,000 หยวน จากเดิมที่ได้รับ 34,000-45,000 หยวน และรัฐบาลจีนตั้งเป้าจะยุติการส่งเสริมทั้งหมดในสิ้นปี 2020 โดยหลังการปรับลดเงินสนับสนุนส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถอีวีลดลง ติดต่อกันมาในระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา

“เอพี” รายงานว่า รัฐบาลจีนลดการสนับสนุนเงินให้กับผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ผลิตรถอีวีต่างลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ราคารถอีวีในจีนเพิ่มสูงขึ้นหลายหมื่นหยวน สถานการณ์ดังกล่าวกำลังบีบรัดผู้ผลิตรถอีวีให้ต้องพยายามดิ้นรนอย่างมากในการเสนอขายรถอีวีที่มีราคาแพง ทำให้หลายบริษัทไม่สามารถอยู่รอด ต้องตัดสินใจควบรวมกิจการหรือปิดตัวลง รวมถึงบริษัทต่างชาติบางรายก็ประกาศร่วมทุนกับบริษัทจีน เพื่อพัฒนารถอีวีราคาไม่สูงสำหรับตลาดท้องถิ่นและรถอีวีแบรนด์ต่างชาติยังต้องแข่งขันกับบริษัทท้องถิ่นรายใหญ่ที่ครองตลาดจีนอย่าง “บีวายดี ออโต้” (BYD Auto) ผู้ผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ที่มียอดจำหน่ายรถอีวีในปีที่ผ่านมาถึง 160,000 คัน ขณะที่ “บีเอไอซี” (BAIC) ค่ายรถยนต์ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ซึ่งก็มียอดจำหน่ายถึง 152,000 คัน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจำนวนมากก็ตัดสินใจซื้อรถเครื่องยนต์เบนซินแบบดั้งเดิมที่มีราคาถูกกว่า เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว รถอีวีมีราคาสูงกว่ารถเครื่องยนต์เบนซินอย่างน้อย 20,000 หยวน

ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ของจีนระบุว่า ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่อยู่ที่ราว 95,000 คัน ลดลงถึง 43.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และพบว่าช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ราว 1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเพียง 1.3%

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทจัดการลงทุนเบิร์นสไตน์ (Bernstein) ระบุว่า คำสั่งซื้อรถอีวีของจีนส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชนมากถึง 1.2 ล้านคัน หรือราว 70% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่คำสั่งซื้อจากบุคคลทั่วไปอยู่ที่ราว 500,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อรถอีวี ทั้งการยกเว้นภาษี และการให้สิทธิประโยชน์ในการใช้งานรถอีวีต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าส่งเสริมการใช้งานรถอีวี โดยหลังการลดเงินสนับสนุนให้ผู้บริโภค รัฐบาลจีนก็ใช้วิธีในการบังคับผ่านกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อผลักดันยอดขายรถอีวีในบางพื้นที่ อย่างเช่น การจำกัดการครอบครองรถส่วนตัว แต่ยกเว้นสำหรับรถอีวี ทำให้ผู้บริโภคหลายรายจำเป็นต้องซื้อรถอีวี

รวมทั้งการเพิ่มจุดชาร์จไฟฟ้ากว่า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศ ทั้งตามถนน บ้านเรือน และที่จอดรถ ทั้งยังออกมาตรการเร่งด่วนส่งเสริมการใช้รถอีวีในบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการขนส่งสินค้า แท็กซี่ และอื่น ๆ

ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าในหลายพื้นที่ และการเพิ่มอัตราภาษีระหว่างกันของประเทศมหาอำนาจ ยังคงส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกซบเซา โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

รวมถึงการเติบโตของธุรกิจไรด์เฮลลิ่งและคาร์แชริ่งในปัจจุบัน ยังลดความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่นบุคคลลงด้วย สิ่งเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายรถอีวีในจีนที่มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดรถอีวีโลกลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อโลกไปด้วย