รับเหมาไทย-จีนดัมพ์ราคาหัวทิ่ม 2 หมื่นล้านชิง “ไฮสปีดเทรนสายอีสาน”

อัปเดตล่าสุด 23 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 853 Reads   

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในปี 2563 โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท หรือรถไฟไทย-จีน การประมูล ขออนุมัติและเซ็นสัญญา คาดว่าจะดำเนินการได้ครบและเดินหน้าก่อสร้างโครงการ แต่คงจะไม่ได้เต็มพื้นที่ทั้งโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ทำเพิ่มเติมด้วย ถึงจะเซ็นสัญญาได้

ปัจจุบันได้เริ่มงานก่อสร้าง 2 สัญญาได้แก่ ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เป็นงานถมคันดินกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างให้ มีความคืบหน้าแล้ว 75% จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 3,114 ล้านบาท เนื้องานแบ่งเป็นสร้างคันทางรถไฟระดับดินประมาณ 7 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับประมาณ 4 กม. ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ งานคืบหน้าแล้วประมาณ 9% จะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้

“อีก 12 สัญญาที่เหลือ รอเซ็นสัญญา 3 สัญญา รออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) อีก 3 สัญญา อยู่ระหว่างพิจารณาด้านราคา 2 สัญญา พิจารณาผลประมูล 2 สัญญา กำลังจะประมูล 2 สัญญา ทั้งนี้ผลประมูลที่ผ่านมา มีผู้รับเหมาดัมพ์ราคาต่ำกว่าราคากลาง ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างไปกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท จะนำเงินส่วนหนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท โยกไปในสัญญา 2.3 งานระบบที่มีงบฯเพิ่มขึ้นจาก 3.8 หมื่นล้านบาท เป็น 50,633 ล้านบาท ที่กำลังเจรจากับจีนและเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับ 3 สัญญาที่รอเซ็นสัญญา ได้แก่ สัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคา 8,626 ล้านบาท

สัญญาช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคา 11,525 ล้านบาท

และสัญญาช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 กม. เป็นงานระดับดิน 7.02 กม. และยกระดับ 24.58 กม. วงเงิน 11,240 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคา 9,429 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนรอพิจารณาด้านราคา ได้แก่ สัญญางานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เสนอราคา 4,279.328 ล้านบาท

สัญญาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 10,421.014 ล้านบาท ซึ่ง บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 8,560 ล้านบาท

สัญญาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า 30.21 กม. เป็นงานระดับดิน 10.18 กม. และยกระดับ 20.03 กม. วงเงิน 11,064 ล้านบาท มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคา 9,330 ล้านบาท

สัญญาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. เป็นงานระดับดิน 14.12 กม. และยกระดับ 23.33 กม. วงเงิน 11,656 ล้านบาท มี บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เสนอราคา 9,788 ล้านบาท

อยู่ระหว่างรอบอร์ดอนุมัติ 3 สัญญา ได้แก่ สัญญางานโยธา ช่วงบันไดม้า-โคกกรวด ระยะทาง 26.1 กม. รวมงานก่อสร้างสถานีปากช่องของบริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคา 9,838 ล้านบาท สัญญางานโยธาช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญาช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กม. รวมงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา ของกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK วงเงิน 7,750 ล้านบาท

อีก 2 สัญญารอปรับทีโออาร์ ได้แก่ สัญญางานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,093.037 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบ และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ระยะทางกว่า 10 กม.ที่รอแบบจากกลุ่ม ซี.พี.ผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากเส้นทางทับซ้อนกัน

“ตรงเชียงรากน้อย มีเวนคืน 500 ไร่ และปรับรูปแบบก่อสร้างไปจากเดิม ใช้พื้นที่ก่อสร้างเท่าที่จำเป็น ส่วนที่สถานีอยุธยายังคงอยู่ที่เดิม แต่มีปรับแบบสถานีใหญ่ขึ้นและมีเวนคืนเพิ่ม 5 ไร่ สร้างถนนเชื่อมทางฝั่งแม่น้ำป่าสัก” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับเป้าหมายการเปิดให้บริการ จากความล่าช้าของการประมูล ทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปจากเดิมจะเปิดในปี 2566 เป็นปี 2568