เมื่อทุนจีนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเยอรมัน

อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 639 Reads   

ที่แล้วมา อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเยอรมนี คืออุตสาหกรรมการผลิตที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้นำด้านการค้าเสรีในอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลก อย่างไรก็ตามนโยบายจากภาครัฐกำลังจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ไป สืบเนื่องจากรัฐบาลเยอรมันเล็งเห็นว่า การเข้าซื้อกิจการจากต่างชาติ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเยอรมัน ทั้งในด้านของเศรษฐกิจ และในด้านของความปลอดภัย ส่งผลให้รัฐบาลเยอรมันเผยแนวโน้มการเข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตภายในประเทศ เปลี่ยนผันธุรกิจเดิมสู่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ มีที่มาจากการที่ธุรกิจจีนเข้าซื้อกิจการของ Kuka ซึ่งเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่นั่นเอง

รัฐบาลลงมือ แทรกแซงการค้าเสรี เพื่อรักษาความปลอดภัยทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ Mr. Peter Altmaier รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน ประเทศเยอรมนี เปิดเผยนโยบาย “Industrial Strategy 2030” นโยบายด้านอุตสาหกรรมการผลิตในระยะกลาง และระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการมุ่งสร้างความสำคัญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), และการเฝ้าระวัง “Platformer” ของกลุ่มธุรกิจ IT อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้รับความสนใจที่สุดจากแผนนโยบายนี้ คือการเผยความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเยอรมันจะเข้าซื้อกิจการของเอกชนส่วนหนึ่ง

โดยนโยบายนี้ เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการรั่วไหลทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเยอรมัน ซึ่งสำหรับเยอรมนี ที่เป็นเหมือนผู้นำทางการค้าเสรีแล้ว ท่าทีเช่นนี้นับได้ว่าเป็นปรากฏการที่แปลกประหลาดมาก ซึ่งรัฐบาลเยอรมัน ได้ประกาศชัดเจนว่า เป็นการป้องกันเทคโนโลยีรั่วไหลจากการเข้าซื้อกิจการโดยประเทศจีน และประเทศอื่นๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตน

Industrial Strategy 2030 มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ระบุถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเยอรมันจะเข้าร่วมถือหุ้นของ Siemens และบริษัทอื่น ๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเทคโนโลยีรั่วไหล เหมือนอย่าง Kuka ซึ่งถูกจีนซื้อกิจการไปตั้งแต่ปี 2016

นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2018 เยอรมันยังส่งเสริมการควบคุมเงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ให้มีความเข็มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลเยอรมัน จะเข้ามาแทรกแซงในกรณีที่เกิดการซื้อกิจการจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป

แน่นอนว่า นโยบายเช่นนี้ทำให้บริษัทเอกชนภายในประเทศเยอรมนีแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ Bundesverband der Deutschen Industrie (BDI) องค์การทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมัน ได้ยื่นร่างนโยบายที่แสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อจีนให้กับสหภาพยุโรปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ถัดมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนี ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อพูดคุยเรื่องการกระชับความร่วมมือด้านเทคโลยี เพื่อยกระดับการปกป้องเทคโนโลยีของทั้ง 2 ประเทศให้มากขึ้น พร้อมแสดงความกังวลต่อกรณีของ Huawei และชี้แจงถึงความจำเป็นในการปกป้องข้อมูลตัวเองจากรัฐบาลจีน

ภายใน Business Forum ระหว่างเยอรมัน และญี่ปุ่นเอง ประเด็นด้านการปกป้องข้อมูลภายในกลุ่มประเทศ G20 ก็ถูกยกมาเป็นวาระสำคัญ และคาดการณ์ได้ว่า ทั้ง 2 ประเทศ ต่างตกลงส่งเสริมนโยบายป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยี โดยที่มีจีนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งท่าทีต่อประเทศจีน จากผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเยอรมนีแล้ว ทำให้การประกาศนโยบายในครั้งนี้ อาจกลายเป็นเรื่องที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตในระดับโลกก็เป็นได้

การซื้อกิจการ Kuka ปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเยอรมัน

สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลเยอรมันประกาศนโยบายนี้ เป็นผลจากการที่ Kuka ถูกซื้อกิจการไปโดย Midea Group ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ค่ายจีนเมื่อปี 2016 ซึ่งนักการเมืองส่วนหนึ่งของเยอรมัน ได้กล่าวแสดงความกังวลในการรั่วไหลทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันไว้ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัท ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และเซ็นสัญญาซื้อขายกันเป็นที่เสร็จสิ้น

หลังจากปี 2016 Kuka ได้ประกาศสร้างโรงงานใหม่ในประเทศจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 บริษัทให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2018 Mr. Till Reuter CEO บริษัท Kuka ได้ประกาศยกเลิกสัญญานี้โดยไม่ได้ระบุสาเหตุ อย่างไรก็ตาม สื่อนานาชาติ รายงานว่าการยกเลิกสัญญานี้เกิดขึ้นจากความเห็นต่างระหว่าง Kuka และ Midea Group ซึ่งฝ่ายหลังมีแนวทางจะยืดสัญญาไปถึงปี 2022

International Federation of Robotics (IFR)  รายงานว่า ในปี 2017 ประเทศจีนมียอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงขึ้น 59% และมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ที่ 36% อย่างไรก็ตาม ยอดส่วนใหญ่เป็นยอดจากทุนต่างชาติ ในขณะที่ยอดขายจากบริษัทจีนมีเพียง 25% น้อยกว่ายอด 31% ของปี 2016

ผู้ผลิตหุ่นยนต์ค่ายจีนรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “สาเหตุที่ยอดขายหุ่นยนต์จีนลดลง เป็นผลจากความต้องการทคโนโลยีระดับสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์จีนยังไม่อาจตอบโจทย์ผู้ผลิตได้” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้รัฐบาลจีนยกการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนโยบาย “Made in China 2025”

นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลเยอรมันประกาศนโยบายนี้ สืบเนื่องจากจุดยืนของ Kuka ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก “Industry 4.0” ให้กับประเทศเยอรมนี ซึ่งสำหรับรัฐบาลแล้ว หาก Kuka กลายเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตจีนแล้ว อาจจะส่งผลต่อจุดยืนของบริษัทก็เป็นได้

แนวทางของญี่ปุ่น

ในยุคที่การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรม AI รุนแรงยิ่งขึ้นนี้เอง ที่รัฐบาลแต่ละประเทศต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปกป้องข้อมูลมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบาย ซึ่งจะมีบทยาทในการ “รับรอง” บริษัทที่มีความสามารถในการปกป้องข้อมูล จากความเสี่ยงต่าง ๆ เช่นการโจมตีทางไซเบอร์ และการรั่วไหลทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

โดยนโยบายนี้ เป็นส่วนขยายจากมาตรการป้องกันเทคโนโลยีรั่วไหลในปี 2017 ซึ่งระบุว่า ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด คือการรั่วไหลของข้อมูลไปยังนอกประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลเทคโนโลยีเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พบได้มากในกลุ่มบริษัทขนาดกลาง ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจารกรรมข้อมูลได้ง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังเล็งเห็นว่า การรั่วไหลของข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้ในซัพพลายเชนอีกด้วย