เมื่ออุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้าสู่ยุค ”ไร้มนุษย์”

อัปเดตล่าสุด 16 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 886 Reads   
หากจะมีอุตสาหกรรมใดที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข ก็คงไม่พ้นอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง การนำองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellignece: AI), IoT, และหุ่นยนต์ เข้ามาพัฒนาสินค้า จึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญ เพื่อลดภาระของผู้ประกอบอาชีพ ก่อนที่ปัญหาแรงงานจะรุนแรงมากไปกว่านี้
 
การเกษตรแห่งอนาคต
 
“AgriRobo” จาก Kubota
 
สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสังคมผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างมาก และนับวันยิ่งสร้างภาระต่อผู้อยู่ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เอง การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต และเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตหลายราย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคด่านแรกของผู้ผลิตก็คือ “เกษตรกรจะยอมซื้อเครื่องมือราคาสูงเช่นนี้หรือไม่ ?”
 
Kubota เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายแรกที่นำระบบอัตโนมัติเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในปี 2017 และเครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติที่มีกำหนดวางจำหน่ายภายในปีนี้ และเครื่องปลูกข้าวอัตโนมัติในปี 2020
 
Mr. Yuji Fukuyama ผู้จัดการทั่วไปแผนกรถแทรคเตอร์ บริษัท Kubota ชี้แจงว่า “การพัฒนารถแทรกเตอร์ให้วิ่งเป็นเส้นตรงได้บนไร่นา ยากกว่าการพัฒนารถยนต์มาก” ซึ่งรถแทรกเตอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ใช้ระบบ GPS ในการนำทาง และทำงานได้เหมือนให้เกษตรกรผู้มีประสบการณ์ขึ้นขับเอง
 
อีกรายหนึ่งที่เข้าสู่ตลาดนี้คือ Yanmar โดย Mr. Tetsuya Suzuki หัวหน้าแผนกเครื่องจักรทางการเกษตร กล่าวแสดงความเห็นต่อรถแทรกเตอร์อัตโนมัติที่ออกสู่ตลาดในปี 2018 ว่ากำลังเตรียมการเปิดตัวโมเดลใหม่ “ไร้คนขับ” ออกสู่ตลาดในอนาคต
 
ส่วน Iseki เริ่มวางจำหน่ายหุ่นยนต์แทรกเตอร์ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งมีรูปทรงเหมือนรถแทรกเตอร์ทั่วไป แต่เกษตรกรสามารถควบคุมได้จากทางไกล หรือขึ้นขับเหมือนรถแทรกเตอร์ทั่วไปได้ด้วยรีโมท และกล้องที่ติดไว้รอบด้านคันรถ พร้อมเซ็นเซอร์ที่จะช่วยให้รถจอดได้เองหากตรวจพบมนุษย์อยู่ใกล้เกินไป
 
ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
 
อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ต้องแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ของญี่ปุ่น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ 1 ล้านคนในปี 2030 คือนโยบาย “i-Construction” ของ Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการเปลี่ยนงานก่อสร้างด้วยระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยี ICT
 
โดยทั่วไปแล้ว ในไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่ง จะมีความต้องการงาน และเครื่องจักรหลายชนิด ทำให้การก่อสร้างโดยอัตโนมัติเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนไปทีละกระบวนการแล้ว การก่อสร้างโดยไซต์งานไร้มนุษย์ ย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง
 
ด้วยเหตุนี้เอง Komatsu จึงอยู่ระหว่างการทดลองรถขุดไฮดรอลิก และรถดัมพ์อัตโนมัติ ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากมาตรวัดในการทำงาน พร้อมติดตั้งเซ็นเซอร์ช่วยให้สามารถกำหนดแรงที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยใช้ GPU (Graphics Processing Unit) ของ Nvidia ในการประมวลผลภาพ
 
อีกรายคือ Hitachi Construction Machinery ที่อยู่ระหว่างการพัฒนารถบดถนน และลาดยางอัตโนมัติ ซึ่งสามารถควบคุมได้ผ่านแท็บเล็ต โดยกำหนดเส้นทางที่ต้องการ จากนั้นรถจะทำงานอัตโนมัติ พร้อมแจ้งความคืบหน้าไปยังแท็บเล็ตของผู้ใช้
 
อย่างไรก็ตาม แม้ในอนาคตไซต์งานไร้มนุษย์จะเกิดขึ้นจริง แต่อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไม่อาจขาดมนุษย์ไปได้ แนวโน้มการใช้งานเครื่องจักรจึงมีทิศทางไปยังการควบคุมทางไกล หรือใช้ในงานที่มีความเสี่ยงมากกว่า
 
ตลาดหุ่นยนต์เกษตรโต 50 เท่า
 
 
คาดการณ์ว่าในอนาคต ความต้องการหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการเกษตร และก่อสร้าง จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยประเภทที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นคือรถแทรกเตอร์, เครื่องตัดหญ้า, เครื่องปลูกข้าว, หุ่นยนต์ปลูกพืช, หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว, และโดรน ซึ่ง Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ในปี 2030 มูลค่าตลาดหุ่นยนต์สำหรับงานเก็บเกี่ยว และงานลำเลียงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 51.5 เท่า ในขณะที่หุ่นยนต์สำหรับการทำไร่จะเพิ่มขึ้น 46.2 เท่า
 
ในขณะเดียวกัน อีกตลาดที่คาดว่าจะมีการเติบโต คือหุ่นยนต์สำหรับงานตรวจสอบ และบำรุงรักษาในอุตสาหกรรมก่อสร้าง, หุ่นยนต์ทำความสะอาด, และหุ่นยนต์ หรือ Wearble Device ซึ่งช่วยให้คนงานก่อสร้างสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น