เมื่อ โควิด-19 คือ ลมเปลี่ยนทิศ การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 2 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 590 Reads   

จนถึงตอนนี้ ผู้อ่านทุกท่านคงทราบดีว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมมากเพียงใด ซึ่งเชื่อว่า สถานการณ์ในครั้งนี้จะเป็นปมสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางและนโยบายในหลายเรื่องอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงดาวเด่นอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) ด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิดในคราวนี้นับว่ารุนแรงกว่าคาดการณ์มาก และเกมนี้ไม่ง่าย เพราะอาจส่งผลถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมหลังจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่าประเทศจีนเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรม และยังเป็นผู้กุมผลประโยชน์จากการเป็นฟันเฟืองสำคัญของทรัพยากรลิเธียมระดับโลกที่ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อปี 2019 Power Battery Application Committee of China Industrial Association of Power Sources (CIAPS-PBA) รายงานการเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ในช่วงไตรมาสแรกของปีว่า มีปริมาณการติดตั้งแบตเตอรี่ไฟฟ้าในยานยนต์อยู่ที่ 12.31 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2018 มากถึง 182.4% อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 นี้ การระบาดของไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้ตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงจากปีก่อนถึง 77.7%

ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตวัสดุที่เกี่ยวข้องสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แม้จะมีการกลับมาเริ่มผลิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่จนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตในมณฑลหูเป่ย์ยังกลับมาไม่ถึง 50% ของกำลังการผลิตเดิม อีกทั้งยังประสบปัญหาความล่าช้าในการเปิดสายผลิต การขาดแคลนแรงงาน และโลจิสติกส์อีกด้วย

สื่อจีนรายงานว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ราคาลิเธียมในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของปริมาณซัพพลายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความต้องการแปรรูปลิเธียมมีการเติบโตน้อยกว่าการคาดการณ์ สืบเนื่องจากกำลังการผลิตที่มีการเติบโตต่ำ

ในงานแถลงข่าวที่จีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้มีการเปิดเผยเอกสารที่อ้างถึงข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ ว่า “ประเทศจีนเป็นฟันเฟืองสำคัญของทรัพยากรลิเธียมระดับโลก” แต่ด้วยสถานการณ์ล่าสุด ทำให้ธุรกิจหลายรายเริ่มพิจารณาการใช้ทรัพยากรลิเธียมจากสหรัฐฯ แทนจีน ยกตัวอย่างเช่น Albemarle ธุรกิจเคมีภัณฑ์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ความต้องการลิเธียมในจีนที่ลดลง จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตลิเธียมในตลาดโลกลดน้อยตามลงไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความแพร่หลายของรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ส่วน Tesla นั้น แม้จะยังไม่มี

การยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการประกาศว่าจะเริ่มทำการผลิตลิเธียมเองแล้วเช่นกัน 
นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตส่วนหนึ่งเล็งเห็นว่า การเปลี่ยนตลาดจากจีนไปยังประเทศที่มีความมั่นคงทางทรัพยากรต่ำกว่า แต่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการเมืองสูงกว่า อาจส่งผลดีกว่าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสำหรับยานยนต์ก็เป็นได้