เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 1,002 Reads   

ปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่องานอุตสาหกรรมกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมเครื่องจักร และหุ่นยนต์จากทางไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจสำเร็จได้ หากไร้ซึ่งศักยภาพในการรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลด้วยความเร็วสูง รวมถึงการเสนอแนวคิดการนำไปใช้ในการผลิตเครื่องจักร และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้เอง 5G จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของระบบอัตโนมัติในอนาคต

ทดลองใช้งานจริง

NTT DOCOMO เดินหน้าโครงการ “5G Open Partner Program” เพื่อร่วมสนับสนุน และทดลองเทคโนโลยี 5G โดยปัจจุบัน มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแล้วมากถึง 2,800 บริษัท โดนมีอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมากที่สุดคืออุตสาหกรรมบริการ คิดเป็น 25% ของธุรกิจที่เข้าร่วมทั้งหมด ตามด้วยธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และอุตสาหกรรมอาหาร 20% และอุตสาหกรรมก่อสร้าง 18% โดยคาดการณ์ว่า จะถูกนำไปใช้ในโมเดลธุรกิจ B2C ภายในปี 2020

หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการคือ Toyota ซึ่งนำ 5G มาใช้ในการควบคุมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ “T-HR3” ซึ่งสามารถควบคุมได้จากระยะห่างไปถึง 10 กิโลเมตร ควบคุมผ่านเฮดเซ็ตในแบบเรียลไทม์ และประสบความสำเร็จในการทดลองเรียงบล็อกของเล่นขนาดเล็ก ด้วยการส่งข้อมูลแรงกระทำต่อมือหุ่นยนต์ไปยังผู้บังคับให้รู้สึกเหมือนเป็นคนหยิบจับด้วยตัวเอง ทำให้สามารถทราบข้อมูลของวัตถุได้โดยไม่ต้องใช้สายตา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นประโยชน์ในงานกู้ภัย และการสำรวจอวกาศเป็นอย่างยิ่ง

อีกรายหนึ่งคือ Komatsu ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ 5G ควบคุมเครื่องจักรก่อสร้างจากทางไกล โดยส่งภาพจากกล้องกลับมายังห้องควบคุมซึ่งมีรูปแบบเดียวกัน และวัดตำแหน่งด้วยระบบ GNSS (Global Navigation Satellite System) จนได้เป็นความแม่นยำในระดับเซ็นติเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่า จะสามารถใช้งานในอุตสาหกรรมได้จริงภายใรปี 2020

5G ในโรงงาน


การสาธิตหุ่นยนต์ที่ควบคุมทางไกลด้วย 5G (DMG Mori)

ส่วนในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น DMG Mori ร่วมกับ KDDI ตั้งกำหนดการเริ่มทดลองการนำ 5G มาใช้งานจริงภายในช่วงปลายปีนี้ โดยใช้เครือข่าย 5G ในการเชื่อมต่อ Machine Tools 150 เครื่องเข้าด้วยกัน เพื่อทดลองผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร

Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG Mori กล่าวแสดงความเห็นว่า “โดยพื้นฐานแล้ว การทำงานต้องดำเนินในสถานที่จริง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าพนักงานต้องอยู่ในโรงงานเสมอไป แต่ทำให้ “เหมือน” มีโรงงานอยู่ตรงหน้าแทนก็ได้”

นอกจากการควบคุมทางไกลแล้ว 5G ยังช่วยให้ความแม่นยำของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และการตรวจสอบคุณภาพสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมนั้น พนักงาน 1 คน รับหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร 3 เครื่อง เมื่อนำ 5G มาใช้ พนักงาน 1 คน จะสามารถควบคุมเครื่องจักรได้ถึงหลายสิบเครื่อง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่ง Mr. Masahiko Mori ได้กล่าวเสริมว่า “หากปัญญาประดิษฐ์คือการนำองค์ความรู้ของมนุษย์ไปให้คอมพิวเตอร์ใช้ 5G ก็คือการนำคอมพิวเตอร์มาให้มนุษย์ใช้นั่นเอง”

DMG Mori คาดการณ์ว่า จะสามารถเริ่มให้บริการ 5G ได้ภายในปี 2020 เช่นเดียวกัน โดยเบื้องต้นได้ตั้งเป้าใช้งานในส่วนบริการหลังการขาย และการวางโครงสร้างพื้นฐานในโรงงานของลูกค้า เพื่อช่วยตรวจสอบ และบำรุงรักษาเครื่องจักร

การคมนาคม

ในอุตสาหกรรมอากาศยาน Japan Airlines (JAL) ร่วมกับ KDDI ทดลองใช้ 5G ในด้านงานบริหาร และการบำรุงรักษาสนามบิน และใช้กล้องในการรับส่งภาพความละเอียดสูง เพื่อให้สามารถสนับสนุนงานซ่อมบำรุงจากนอกสถานที่ได้ รวมถึงใช้งานในส่วนของกล้องวงจรปิดอีกด้วย

ส่วนในอุตสาหกรรมรถไฟนั้น West Japan Railway Company ร่วมกับ NTT DOCOMO นำ 5G เข้ามาแทนที่การรับส่งสัญญาณรถไฟด้วยวิทยุ ได้เป็นการรับส่งข้อมูลที่เสถียร รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมจากการทดลองใช้ในรถไฟความเร็วสูง