076-รถไฟความเร็วสูง-เชื่อม-3-สนามบิน-EEC

อีอีซีเคาะ 490 ล้าน เปิดหน้างานไฮสปีดเร่ง “ซี.พี.” ออกแบบเสร็จ ม.ค.63

อัปเดตล่าสุด 20 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 828 Reads   

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2562 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 18 พ.ย. รับทราบการทำงานของคณะทำงานส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

คณะทำงานได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา พิจารณาแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใน 3 ช่วงสำคัญ คือ 1.ช่วงพญาไท – สุวรรณภูมิ หรือระบบแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์เดิม ระยะทาง 28 กม. สามารถส่งมอบได้ทันที เมื่อบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซี.พี.) เอกชนคู่สัญญาชำระค่าใช้สิทธิ์ 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปีนับแต่วันลงนาม

2.ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. มีระยะการส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนาม และ 3.ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท ระยะทาง 22 กม. มีระบบสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ 2 จุด คือ จุดแรก ช่วงก่อนเข้าสถานีกลางบางซื่อ มีอุโมงค์ระบายน้ำและท่อน้ำมันขวางแนวอยู่ และอีกจุดหนึ่งคือ ช่วงก่อนถึงสถานีดอนเมือง มีเสาไฟแรงสูงตั้งอยู่บนแนวเส้นทาง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

“ที่ประชุมได้ประมาณการค่าใช้จ่ายเปิดหน้างานทั้งแนวเส้นทาง เพื่อรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้วอยู่ที่ 490 ล้านบาท หลังจากนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อปิดหน้างานหลังก่อสร้างแล้วเสร็จอีกครั้ง ยังอยู่ระหว่างการคำนวณค่าใช้จ่ายและประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” นายคณิศกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญาและโครงสร้างบริหารการจัดการโครงการแล้ว อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่กำหนดให้เป็นกรรมการส่งรายชื่อบุคคลผู้เหมาะสมมาให้ครบถ้วนก่อน คาดว่าจะได้รายชื่อครบแลจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ กพอ.ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือน ธ.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ เปิดเผยว่า กลุ่มซี.พี.แจ้งว่าจะเคลียร์การออกแบบแบบก่อสร้างของโครงการได้เสร็จภายในเดือน ม.ค.2563 เพื่อนำแบบก่อสร้างมาทาบแนวเส้นทาง หาพิกัดจุดที่จะกระทบกับระบบสาธารณูปโภค เช่น ท่อประปา ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน โดยคณะทำงานจะหาแนวทางที่จะกระทบกับระบบต่าง ๆ ที่มีให้น้อยที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เช่น หากพบว่าการวางเสาตอม่อทุก ๆ 30 เมตร ไปกระทบกับท่อประปา ก็จะให้ขยับการวางเสาออกไป 2 เมตร เป็นต้น

และได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 หน่วยงานข้างต้นทั้งหมดแล้ว จะมีการนัดประชุมคณะทำงานส่งมอบพื้นที่อีกครั้งช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อนำแผนของแต่ละหน่วยมาตรวจสอบ ดังนั้นในช่วง 3 เดือนนี้ (พ.ย. – ธ.ค. 2562 และ ม.ค2563) จะเริ่มลงสนามพื้นที่จริง เพื่อนำแบบที่มีไปตรวจสอบตามแนวเส้นทาง แล้วนำกลับมาสรุปให้คณะทำงานรับทราบว่าต้องรื้อย้ายกี่จุด แต่ละจุดใช้เงินลงทุนเท่าไหร่