‘พัทยา’ ต้นแบบการพัฒนา TOD ตอบโจทย์เมืองแห่งความเจริญของ EEC
การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง (TOD) เป็นคอนเซปต์หนึ่งในการสร้างเมืองน่าอยู่ที่เต็มไปด้วยความสุขและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเดินไปเพื่อกระจายความเจริญสู่พื้นที่ต่าง ๆ ด้วยแนวทางการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม และกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเดินทางด้วยระบบขนส่ง โดย ‘พัทยา’ คือหมุดหมายหนึ่งในการเมืองต้นแบบ TOD รอบสถานีรถไฟเมืองพัทยา 4 โซนหลัก ยกระดับสู่มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ และการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบ TOD หรือ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development : TOD) เพราะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในอนาคตจะเติบโตเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และมีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ที่สำคัญยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย และเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
การพัฒนาเมืองต้นแบบ TOD จึงช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กระจายความเจริญ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นให้กับจังหวัดชลบุรีรวมทั้งจังหวัดในภูมิภาคตะวันออก ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เปิดเวทีสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบพัทยา ครั้งที่ 1 ตามโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” เพื่อรองรับการก้าวเป็นเมืองต้นแบบ TOD อย่างสมบูรณ์
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กล่าวว่า เมืองพัทยา เป็นกลุ่มเมืองต้นแบบ TOD ด้านตะวันออก เพราะมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของ EEC มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ และทำเลที่ดีที่สุดในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและเป็นประตูสู่อาเซียน โดยเฉพาะจีนและอินเดีย โดยมีเม็ดเงินลงทุนพัฒนาเมืองในพื้นที่และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว มูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านบาท และ 200,000 ล้านบาท ตามลำดับ
รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ ‘เมืองพัทยา’ เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศและอาเซียน รวมทั้งการลงทุนด้านการแพทย์ และการศึกษา พร้อมกับเร่งรัดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรับการแข่งขันจากต่างประเทศ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 3 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมด้านธุรกิจบริการมาตรฐานสากลและแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก หลังติดอันดับ 18 เมืองจุดหมายปลายทางของโลกในปี 2561 จากปริมาณนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน และเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นบริเวณรอบสถานีเมืองพัทยา สามารถพัฒนาได้ 4 โซนหลัก ดังนี้
โซนที่ 1 ย่านอาคารสำนักงานที่พร้อมรองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างลงตัว เพราะตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ เหมาะกับการพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งอาคารสำนักงานระดับภูมิภาค ที่ทำการหน่วยงาน สถานศึกษา ร้านค้าปลีก รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน
โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล่องตัว ด้วยตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีทำให้พื้นที่บริเวณนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาครองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงโรงแรมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และบริการแบบครบวงจร
โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ครบวงจร ด้วยศักยภาพและความพร้อมของเมืองพัทยาในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี และมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงเหมาะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการประชุม จัดแสดง และสัมมนา โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โรงแรมที่จัดการประชุมขนาดใหญ่ได้ รวมถึงโรงแรมราคาประหยัดที่พร้อมรองรับทุกความต้องการ ‘เมืองพัทยา’ จึงมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นมหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ได้
โซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัย อยู่สบาย เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ด้วยความสะดวกสบายด้านการคมนาคม เพราะอยู่ใกล้สถานี เหมาะพัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาคารแนวราบ และอาคารแนวสูงราคาถูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี มีร้านค้าปลีกชุมชน และสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ครบถ้วนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสันทนาและมีความปลอดภัย เอื้อต่อการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ TOD เมืองพัทยา ก็คือ ภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ ที่สำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : www.eeco.or.th