สภาอุตฯ บุกพบ “สมคิด” ถกค่าแรง 400 บาท ยื่นปกขาวรัฐบาล

อัปเดตล่าสุด 19 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 638 Reads   

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.9 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณชะลอตัว กระทบต่อการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้า

นอกจากนี้ปัญหาความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความยืดเยื้อของสงครามการค้าและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจะปรับตัวลดลงแล้ว หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ลงด้วยเช่นกัน

จึงคาดการณ์ว่า 3 เดือนข้างหน้าดัชนีฯ จะปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 โดยลดลงจาก 102.9 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562

โดยเอกชนได้เสนอแนะต่อภาครัฐ ว่า ควรออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้า เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ และควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนกรณีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทนั้น ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วย แต่หากรัฐบาลต้องการช่วยผู้ใช้แรงงานจริง ก็สามารถใช้วิธีปรับโครงสร้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นการชั่วคราว 6-12 เดือน จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น

และในวัน 19 ก.ค.2562 นี้ หลังเข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อแสดงความยินดีในการรับตำแหน่งใน ครม. จากนั้นหารือถึงการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน หรือถึงเรื่องค่าแรงที่อยู่ในสมุดปกขาวที่เตรียมยื่นให้รัฐบาลเร็วๆ นี้

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน กล่าวว่า จากกรณีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจถึงขั้นเลิกกิจการ เพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องนั้น จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่

ส.อ.ท. จึงเสนอ “นโยบายค่าจ้างและการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลัก คือ

1.การปรับอัตราค่าจ้าง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรสัมพันธ์กับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย (พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน)
2.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ควรส่งเสริมในเรื่องการ Re Skill และ Up Skill ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
3.การเพิ่มกำลังคนทดแทน เสนอให้วางระบบ Re -Employment สำหรับแรงงานสูงอายุ สร้างมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ