สงครามราคาที่ดินนิคมอีอีซีเดือด “อมตะ”ชูบริการหลังการขาย ดันยอดขายปีนี้พันไร่

อัปเดตล่าสุด 21 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 624 Reads   

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันค่อนข้างมาก จนทำให้กังวลว่าจะเกิดภาวะสงครามราคาที่ดิน โดยยอมรับขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดภาวะสงครามราคาที่ดินแล้ว แต่อมตะฯ ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับราคาที่ดินให้ถูกลง หรือใช้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าแต่อย่างใด เนื่องจากอมตะฯ มีความแข็งในเรื่องของบริการหลังการขาย และมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน เลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาตั้งในนิคมฯ เท่านั้น บวกกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ไม่จำเป็นต้องลงไปแข่งเรื่องของราคา

โดยตลอดถนนเส้นชลบุรี-ระยอง หมายเลข 331 ปัจจุบันมีนักลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งรายใหม่และรายเดิมแข่งขันกันมากอย่าง นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) หรือเหมราช, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง และนิคมอุตสาหกรรมซีพี (CP)

สำหรับปี 2562 นี้ อมตะฯ ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในไทย 950 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ชลบุรี 150 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ระยอง 500 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมไทยจีน 300 ไร่ คาดรายได้ที่รับรู้จากการขายที่ดินปีนี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 70% ของรายได้ที่รับรู้ จากยอดขายครึ่งแรกของปีนี้ (ม.ค-มิ.ย.2562) อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าไร่ ประกอบกับตั้งเป้าหมายยอดที่ดินในประเทศเวียดนามอีก 125 ไร่ รวมเป้าหมายยอดขายทั้งกลุ่มอมตะปีนี้อยู่ที่ 1,057 ไร่

และจากอานิสงส์ของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้นักลงทุนจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ ที่คาดจะมีการลงทุนมากกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดในกลุ่มอมตะ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เกษตร และอาหาร

ทั้งนี้ หากประเมินแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติต่อจากนี้ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน คาดว่าจะเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ในสัดส่วน 62-63% จีน 2-3% และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง สัดส่วนจีนลงทุน 36% ญี่ปุ่นลงทุน 31-32% เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ต้นทุนถูกกว่าอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 2 เท่า

สำหรับภาพการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) นับว่าชะลอตัวลง เนื่องจากโครงการลงทุนตามแผนของ EEC ต่างๆ มีความล่าช้า ประกอบกับขั้นตอนการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการอนุมัติ อนุญาติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อน ต้องขอผ่านทั้ง สำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ก่อนกลับมายื่นที่ สำนักงาน EEC อีกครั้ง แม้ว่าจะมีแผนการวางระบบ One Stop Service แล้วแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้ขณะนี้การยื่นขออนุญาติต่างๆ ยังเป็นขั้นตอนเดิมอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบุคลากรของ EEC มีจำนวนไม่เพียงพอในการทำงาน นับเป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน ในการขอรับส่งเสริมการลงทุนพื้นที่ EEC