ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ควรปรับตัวอย่างไร จึงจะตามทันเทคโนโลยีได้

อัปเดตล่าสุด 31 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 965 Reads   

ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์แต่ละครั้ง นำมาซึ่งความท้าทายในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่มีเทคโนโลยีใหม่ด้วยแนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ควรปรับตัวอย่างไร จึงจะตามทันเทคโนโลยี  โดย Mr. Tadanori Okano ประธานสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่น (๋JAPIA: Japan Auto Parts Industries Association) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไว้ ดังนี้

การชะลอตัวของยอดขายรถในจีน และอินเดีย ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร?

“ยอดขายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งสำหรับค่ายที่มีส่วนแบ่งในตลาดเยอะ หรือค่ายรถที่มีรายได้หลักจากการส่งออก จะได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 ตลาดนี้อย่างแน่นอน”

ผู้ผลิตชิ้นส่วนควรปรับตัวอย่างไร จึงจะสามารถตามทันเทคโนโลยีได้?

“สิ่งสำคัญสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คือการพัฒนาเทคโนโลยี และการลดต้นทุน ซึ่งสิ่งที่จะช่วยในทั้ง 2 ด้านนี้ได้ คือการร่วมมือกับบริษัทอื่น หรือการนำ Open Innovation เข้ามาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าหลายบริษัท จำเป็นจะต้องเปลี่ยนมาผลิตชิ้นส่วนแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยผลิตมาก่อน เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดในตลาดต่อไปได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย ที่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ก้าวทันอุตสาหกรรมสามารถทำได้ยากกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐ และสถาบันต่าง ๆ ควรให้การสนับสนุนในด้านองค์ความรู้เหล่านี้”

ปัญหาของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีตามแนวคิด CASE คืออะไร?

“แน่นอนว่าแม้การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะเข้าสู่ยุคใหม่ ธุรกิจทุกรายก็ยังมีรูปแบบคงเดิม คือ มีเป้าหมายในการสร้างเม็ดเงิน และนำเม็ดเงินที่ได้ส่วนหนึ่งมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมซึ่งยังไม่แน่ชัดในขณะนี้ การแบ่งงบไปใช้วิจัย และพัฒนาอาจเป็นเรื่องอย่างสำหรับธุรกิจหลายราย และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทให้ลดลงไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าในระยะยาว เมื่อแนวทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ชัดเจนกว่านี้แล้ว ปัญหานี้จะคลี่คลายลงไปเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ การสร้างรายได้ โดยไม่ละเลยการวิจัย และพัฒนา”

คิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญในการยกระดับ Sub Contract?

“สำหรับ JAPIA ความร่วมมือระหว่างสถาบัน ผู้ผลิต และซัพพลายเชน เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลย และหากต้องการให้อุตสาหกรรมยานยนต์สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”