Mr. Tomomasa Satou, Tokyo Univeresity, World Robot Submit (WRS) 2018

คณะกรรมการ WRS เผย "RaaS" คือ สิ่งที่ผู้ซื้อหุ่นยนต์ต้องการ

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 713 Reads   

งานแข่งขันและจัดแสดงหุ่นยนต์นานาชาติ “World Robot Submit (WRS) 2018” กำลังจะถูกจัดขึ้นในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ ซึ่งภายในงาน ทั้งหุ่นยนต์, AI, เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง, และแอปพลิเคชันสำหรับเชื่อมโยงองค์ประกอบทั้ง 3 ข้างต้นเข้าด้วยกัน จะถูกนำไปจัดแสดง เพื่อเร่งก่อให้เกิด “การปะทุเชิงหมู่ (Combinatorial Explosion)” ขึ้น 

Mr. Tomomasa Satou หัวหน้าคณะกรรมการฝ่ายบริหาร WRS และศาสตราจารย์กิตติคุณมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ตอบคำถามต่าง ๆ จากสัมภาษณ์ก่อนวันงานไว้ดังนี้


 สาเหตุในการจัดงาน WRS
 
“ในงานเราจะจัดการแข่งขันทางเทคโนโลยีและไอเดียต่าง ๆ เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าปริมาณมากเฉพาะกลุ่ม (Mass Customization) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตยานยนต์ที่ปรับเปลี่ยนออปชันตามความต้องการของลูกค้าได้ และใน 1 สายการผลิตจะมีไม่เกิน 3 คันเท่านั้น ซึ่งในอนาคตเราต้องการขยายเทคโนโลยีนี้ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์”
 
ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดคือยานยนต์ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะแพร่หลายไปยังอุตสาหกรรมอื่นหรือไม่
 
“กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ SIer ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง “FA Robot System Integrator Association” องค์กรความร่วมมือด้าน SI ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทกว่า 140 ราย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าแค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันเทคโนโลยี นอกจากนี้ การที่ผู้แปรรูปโลหะออกแบบอุปกรณ์หยิบจับชิ้นงานขึ้นเอง เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถจับชิ้นงานได้ง่ายขึ้น ก็เป็นแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็น SI เต็มตัวได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันก็มี SMEs ที่เข้าข่ายกรณีนี้จำนวนมาก เพียงแต่ไม่รู้ตัวว่าบริษัทตนมีศักยภาพ”
 
มีความเห็นเช่นไรกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต
 
“ผมมองว่าทุกอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่, Infrastructure, หรือกระทั่งการแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน การนำเสนอหุ่นยนต์ให้แก่อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เป็นโมเดลธุรกิจหนึ่งที่มีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากหุ่นยนต์แล้ว ยังมี IoT ซึ่งมีความต้องการแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งที่ผู้ซื้อต้องการโดยแท้จริงไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่เป็น RaaS (Robot as a Service) ซึ่งสิ่งนี้เอง ที่จะกลายเป็นสินค้าในอนาคต”
 
คิดว่าในอนาคตรูปแบบธุรกิจจะเป็นเช่นไร
 
“ผมมองว่าในอนาคต กำไรจากการติดตั้งระบบจะน้อยลง แต่กำไรจากการขายบริการจะสูงขึ้น นอกจากนี้ อีกสิ่งที่จะมีมูลค่ามากขึ้นคือข้อมูลที่หุ่นยนต์รวบรวมเอาไว้ และบริการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ก็จะมาทำงานในส่วนนี้ แล้วยกระดับอุตสาหกรรมในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม ทำให้การพัฒนาประสิทธิภาพไม่จำกัดเพียงแค่การติดตั้งหุ่นยนต์เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมคาดการณ์ว่า โมเดล RaaS จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในหลายภาคอุตสาหกรรม”