"Shaping Thai Industry : ทิศทางอุตสาหกรรมไทย"

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 534 Reads   

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำเสนอปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ภายใต้ชื่องาน “Shaping Thai Industry : ทิศทางอุตสาหกรรมไทย” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยี (Technology) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และการใช้ข้อมูล (Big Data) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และเร่งพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรให้ก้าวทันโลกเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) การพัฒนาความร่วมมือกับทุกเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ซึ่งจะช่วยในการต่อยอดส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าไทยสู่มาตรฐานสากล และผลักดันสินค้า “Made-in-Thailand” ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหาเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง และลดข้อจำกัดต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรม
 
การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมฟังกันอย่างคับคั่ง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาอุตสาหกรรม ในช่วงเสวนา “ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทย” โดยพรรคการเมือง ดำเนินรายการโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอ “ปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง” ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่ง Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่

2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยสนับสนุนการพัฒนา AI Robotic และ Lean Automation การตั้งกองทุน Innovation Fund และการตั้งศูนย์ Big Data ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร (Smart Agro)

3. ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand โดย SME Venture Program และยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วย SME และประชาสัมพันธ์สินค้าที่ผลิตในไทยให้ทั้งในและต่างประเทศเชื่อถือ เชื่อมั่น รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการขายผ่าน E-Commerce ทุกแพลตฟอร์มทั่วโลก และขอให้ภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้า Made-in-Thailand

4. เสริมสร้างธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการส่งเสริม SMEs ทำบัญชีเดียว 
ขอให้รัฐพิจารณาจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น และปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม

5. ยกระดับทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการตั้งศูนย์การศึกษา Life Long Learning และปรับการศึกษาให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill)
 
ทั้งนี้ การสร้างความร่วมมือ การประสานงานอันดี และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค จะเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็งและเติบโตก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง และสามารถผลักดันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของไทย ขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ นายสุพันธุ์ กล่าว