Machine Tool กับ อนาคตของอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ

อัปเดตล่าสุด 16 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 1,070 Reads   

ด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงเครื่องจักรกล หรือ Machine Tools ที่เป็นรากฐานในการสร้างชิ้นงานก็อยู่ท่ามกลางความคืบหน้านี้เช่นกัน อุตสาหกรรม Machine Tools เองได้ให้ความสนใจกับกระแสนวัตกรรม 4.0 ที่นำสู่การเปลี่ยนโรงงานเป็นระบบอัตโนมัติและเกิดโมเดลธุรกิจ Machine Sharing ในขณะเดียวกันภาคการผลิตก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งการพัฒนาเหล่านี้ยังอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทนโลหะก็ได้

สู่ความเป็นมืออาชีพ

Mr. Mori Masahiko ประธานบริษัท DMG Mori Seiki กล่าวว่า “ในปี 2050 คงไม่มีบริษัทใดในอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะมีพื้นที่ให้กับมือสมัครเล่น” ซึ่งในโลกที่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตพัฒนาไปมากนั้น ความต้องการคุณภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะความแม่นยำในการทำงาน คุณภาพวัสดุ และความน่าเชื่อถือก็ย่อมมากขึ้นไปอีกขั้นด้วย ทำให้มีแต่บริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้

หันมาใช้วัสดุใหม่

Mr. Akihiro Sagou ผู้อำนวยการ Mitsubishi Heavy Industries Machine Tool กล่าวว่า “แม้ในอนาคต โลหะจะไม่หายไป แต่วัสดุใหม่ ๆ อย่างวัสดุผสมก็จะมีจำนวนมากขึ้น” พร้อมยังคาดการณ์อีกว่า เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยของรถยนต์ที่จะพัฒนาขึ้นอีกในอนาคตนั้น จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนวัสดุสำหรับประกอบด้านนอกรถยนต์ คือหันไปใช้เรซิ่นแทนโลหะนั่นเอง

สำหรับ Mr. Mori นั้นคาดว่า นวัตกรรมวัสดุใหม่ ๆ ที่แปรรูปได้ยาก “จะถูกทำงานภายในห้องสูญญากาศปลอดเชื้อ” โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ถัดมาคือประธานบริษัท Sodick Mr. Yuji Kaneko ผู้เคยเป็นนักพัฒนา NC machine มาก่อน มองว่าระบบการทำงานของ Machine Tool ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน และหากสามารถพัฒนาระบบคลาวด์ซึ่งควบคุมเครื่องจักรจำนวนมากของลูกค้าผ่านผู้ผลิตได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องจักรลงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต Machine Tool รายใหญ่รายหนึ่งได้คาดการณ์ว่าธุรกิจ Machine Sharing จะขยายตัวมากขึ้นในส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ในงานแปรรูปโลหะทั่วไป โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงกรณีของสหรัฐฯ ที่มีธุรกิจซึ่งใช้โมเดลเดียวกับ Uber แต่เป็น Machine Tools แทน

โดยในสหรัฐฯ นั้น ผู้ผลิตที่มี Machine Tool เป็นของตัวเองนั้นมีเพียง 40% เท่านั้น ส่วนที่เหลือใช้บริการ Machine Sharing ในการใช้เครื่องจักรร่วมกัน

การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว

Citizen Machinery เปิดเผยคอนเซ็ปต์โรงกลึงในอีก 10 ปีข้างหน้าไว้เมื่อปี 2015 โดยกล่าวว่า ผู้จัดการโรงงานสามารถจิบกาแฟอยู่ที่บ้านแล้วควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานที่แทบไม่มีคนได้ โดยการโปรแกรมการทำงานของเครื่องจักรเพื่อให้สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบและความผันผวนของสกุลเงิน หรือในกรณีที่มีเครื่องจักรที่ใช้การไม่ได้ ก็สามารถใช้หุ่นยนต์ที่ติดตั้งไว้บนเพดานในการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ขัดข้อง

ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้เป็นแนวคิดเมื่อ 3 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีบางส่วน เช่น การตรวจสอบเครื่องจักรจากระยะไกลออกมาใช้งานจริงได้สำเร็จแล้ว จึงกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว